จากความมุ่งมั่นในการพัฒนางานวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงผลงานความก้าวหน้าและพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับจาก QS World University Rankings by Subject 2023 ให้ติดอันดับ TOP 70 ของโลก ในสาขาทันตแพทยศาสตร์ (Dentistry) เป็นครั้งแรก และจัดอยู่ใน TOP 2 ของอาเซียน และอันดับ 1 ของประเทศไทย
ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงความสำเร็จของคณะในระดับนานาชาติในครั้งนี้ว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งเพราะเป็นครั้งแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ปรากฎชื่ออยู่ในระบบ Ranking ของ QS World University Rankings by Subject แสดงให้เห็นว่าคณะได้มาตรฐานระดับโลก ปัจจัยแห่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากการพัฒนาที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้านของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งงานวิจัย วิชาการ และการบริการวิชาการ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ภารกิจหลักทั้ง 3 ด้านของคณะได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
ในด้านงานวิจัย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งเน้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในวารสารวิชาการนานาชาติในระดับ Q 1 ซึ่งพบว่ามีจำนวนผลงานวิชาการของคณะเพื่อตอบโจทย์สังคมที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งบริษัท ซี.ยู.เดนท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ส่งผลให้คณาจารย์และนิสิตพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์การพัฒนาผลงานนวัตกรรมนำไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ในด้านวิชาการ คณะทันตแพทยศาสตร์มีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้นในรูปแบบของ Education Innovation โดยมีหลักสูตรต่างๆ จำนวนมากที่เป็นความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งยังมีหลักสูตรผลิตทันตแพทย์ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข คณะวิศวกรมศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อีกด้วย รวมทั้งมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตต่างชาติ การส่งเสริมให้คณาจารย์ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
ด้านการให้บริการวิชาการ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นศูนย์ Tertiary Healthy Care ทางทันตกรรม รวมถึงพัฒนาโครงการ Teledentistry เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทยในถิ่นทุรกันดารและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากก่อนที่จะเข้ารับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล มีโครงการความร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. (PTT Station) ในรูปของคลินิกที่มีลักษณะคล้ายตู้เอทีเอ็ม ให้บริการ 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถเข้าไปพิมพ์อาการป่วยของตนเอง ระบบ AI จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการรักษาอาการป่วยในเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. วิภาวดีรังสิต 62
"คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีความโดดเด่นในด้านการวิจัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ส่งเสริมให้คณาจารย์ในคณะพัฒนางานวิจัย วิชาการ โดยมีทุนสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ทางคณะและมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน มีการจัดทำ Workshop เขียนบทความวิจัย โดยมีนักวิจัยอาวุโสเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังมีการสร้างกลุ่มพันธมิตรวิจัยขึ้น ในส่วนของคณาจารย์นั้น คณะมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพ มีการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการทำวิจัย และมีงบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยที่เพียงพอ ทำให้นักวิจัยมีความสุขกับการพัฒนาผลงานวิจัยเพิ่มขึ้น ด้านการให้บริการของคณะก็มีความโดดเด่นอย่างมาก ทั้งในส่วนของคลินิกการรักษาทางทันตกรรมที่ทันสมัย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ" ศ.ทพ.ดร.พรชัยกล่าว
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ภายนอกเป็นจำนวนมาก ศ.ทพ.ดร.ธนภูมิ โอสถานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีโครงการความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการผลิต Nano-hydroxyapatite ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นสารทดแทนกระดูกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อส่งเสริมการคืนกลับแร่ธาตุของผิวฟัน นอกจากนี้ทางคณะยังร่วมมือกับบริษัท โอสถ อินเตอร์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด พัฒนาน้ำยาบ้วนปากก่อนและหลังทำฟันเพื่อลดการติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้มีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว
ศ.ทพ.ดร.พรชัยเผยถึงนวัตกรรมส่วนหนึ่งจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่น่าสนใจ อาทิ Dent Cloud เป็นระบบบริหารจัดการคลินิกทันตกรรมที่ทำงานอยู่บนระบบ Cloud ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลคลินิกทันตกรรมของตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการช่วยเหลือสังคมได้อย่างดียิ่ง การพัฒนา Dent Product เช่น ยาสีฟัน "คูฬเดนท์" ซึ่งเป็นยาสีฟันคุณภาพดี หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้สารจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Silver Diamine Fluoride เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก สามารถระงับอาการฟันผุได้ผลเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าสามารถผลิตเองได้ในประเทศ จะทำให้ราคาถูกลงและสามารถนำไปใช้ในชุมชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการสร้าง CU Dental Academy ในการให้ความรู้ผ่านการศึกษาต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ upskill และ reskill ให้ทันตแพทย์ไทย ทำให้มีทันตแพทย์ที่มีคุณภาพสูงออกไปทำหน้าที่ในการดูแลประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
"ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านงานวิจัยมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมตามเทรนด์ของโลก รวมถึงความโดดเด่นในด้านการพัฒนาผลงานวิชาการและการให้บริการแก่สังคม ส่งผลให้คณะมีชื่อปรากฏอยู่ใน Top Ranking ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพฟันที่ดีมีคุณภาพอย่างยั่งยืนตลอดไป" คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในที่สุด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit