วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมกาสะลอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยว่าที่ร้อยตรีธานี ศรีทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัย เพื่อร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ตามนโยบายเร่งด่วน Quick win ในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนระบบทวิภาคี ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษายกระดับฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานขั้นสูง รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนให้พร้อมสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดย มทร.ล้านนา จะร่วมสนับสุนนการจัดการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก และสนับสนุนวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เรียนในการจัดการกิจกรรมต่าง ๆด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า "การลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการสร้างความร่วมมือกับ มทร.ล้านนา เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างความร่วมมือร่วมกันทั้ง 9 ราชมงคล เพราะกลุ่มราชมงคลนั้นมีนโยบายร่วมกันในการพัฒนาการศึกษาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การแบ่งปันทางด้านทรัพยากร เป็นต้น หากต้องการองค์ความรู้ด้านใดเรายังมีเครือข่ายทางการศึกษาทั่วประเทศที่พร้อมจะสนับสนุนในทุกด้าน ซึ่งแนวทางการพัฒนาการศึกษานั้น มทร.ล้านนาเราเห็นว่าสถาบันการศึกษาเราต้องสร้างจับมือกับสถานประกอบการและภาคเอกชนในการที่จะร่วมกันสร้างตัวป้อนเข้าสู่สถานประกอบการเราต้องสร้างความมั่นใจให้สถานประกอบการเห็นว่าเราสามารถผลิตตัวป้อนที่มีศักยภาพได้ ซึ่งสถานประกอบการทั้งหลายจะร่วมผลักดันและสนับสนุนทุนเพื่อร่วมกันพัฒนาในทุกมิติ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ"
ว่าที่ร้อยตรีธานี ศรีทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก กล่าวว่า "การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้งสถาบัน ทางวิทยาลัยนั้นเล็งเห็นถึงศักยภาพของมทร.ล้านนา ถึงความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังถือว่าเป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาด้วย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงจะเป็นความร่วมมือทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่จะถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ทางภาษา วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงความต่างของวัฒนธรรมการเป็นอยู่ เราอาจจะสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทางภาคใต้ได้ แต่สิ่งนั้นจะไม่ได้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เราเลือกสถาบันแห่งนี้เพราะเราเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะสามารถร่วมกันพัฒนาการศึกษาของเราได้อย่างเป็นรูปธรรม "
โอกาสนี้ คณะผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก เข้าเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา อีกด้วย
HTML::image(