กทม.เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำ-เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน

08 May 2023

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในปีงบประมาณ 2566 กทม.มีแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จำนวน 3,758.5 กิโลเมตร (กม.) แล้วเสร็จ 1,948.1 กม. คิดเป็นร้อยละ 51.8 อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,810.4 กม. คิดเป็นร้อยละ 48.2 โดยแผนงานของ สนน.จำนวน 947.2 กม. ซึ่งใช้แรงงานของหน่วยงาน 45.0 กม. แล้วเสร็จ 40.2 กม. คิดเป็นร้อยละ 89.2 และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 902.2 กม. แล้วเสร็จ 542.4 กม. คิดเป็นร้อยละ 60.1 ส่วนแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำของ 50 สำนักงานเขต จำนวน 2,811.3 กม. ใช้แรงงานของหน่วยงาน 958.1 กม. แล้วเสร็จ 741.3 กม. คิดเป็นร้อยละ 77.4 และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 1,853.1 กม. แล้วเสร็จ 624.2 กม. คิดเป็นร้อยละ 33.7

กทม.เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำ-เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเร่งรัดและเตรียมความพร้อมรับฤดูฝน กทม.ได้ดำเนินการจัดจ้างเอกชนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพิ่มเติมใน 13 เขต คาดว่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือน พ.ค. - มิ.ย.นี้ขณะเดียวกัน สนน.และสำนักงานเขตมีแผนการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บผักตบชวาวัชพืช หรือสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำในคลองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน โดย สนน.ได้รับงบประมาณขุดลอกคลองในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 9 คลอง ความยาว 50,834 เมตร ดำเนินการแล้วร้อยละ 27.52 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.66 ส่วนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง 173 คลอง ความยาว 151,870 เมตร ดำเนินการแล้วร้อยละ 73.15 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนแผนงานเปิดทางน้ำไหลในคลองที่มีวัชพืชหนาแน่นและเป็นอุปสรรคกีดขวางทางระบายน้ำ

สนน.ดำเนินการเปิดทางน้ำไหล 62 คลอง ความยาว 191,603 เมตร ซึ่งจะดำเนินการ 4 รอบ/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดทางน้ำไหลรอบที่ 3 ดำเนินการได้ร้อยละ 33 ขณะที่ 50 สำนักงานเขต ได้เปิดทางน้ำไหล 1,355 คลอง ความยาว 1,345,840 เมตร จะดำเนินการ 1 รอบ/ปี ปัจจุบันดำเนินการได้ร้อยละ 73.24 สำหรับการดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำของ กทม.ปัจจุบันได้จัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำไว้แล้ว 36 แห่ง แบ่งเป็น แก้มลิง 32 แห่ง และบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 13.69 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) 33 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 7.66 ลบ.ม.และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) 3 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 6.03 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งในปี 2566 คาดว่าจะมีพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 3 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 132,700 ลบ.ม.ได้แก่ แก้มลิงบึงสาธารณะลาดพร้าว 71 ปริมาตรเก็บกัก 38,000 ลบ.ม. แก้มลิงสวนน้ำเสรีไทย ช่วงคลองรหัสถึงคลองครุ ปริมาตรเก็บกัก 89,700 ลบ.ม.และแก้มลิงวงเวียนบางเขน ปริมาตรเก็บกัก 5,000 ลบ.ม. ส่วนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ ในถนนสายหลัก (Pipe Jacking) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนัก ปัจจุบันได้ดำเนินการจำนวน 12 แห่ง แล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ 10 แห่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 อีก 2 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้ (1) การประเมินสถานการณ์น้ำล่วงหน้าและวิเคราะห์จุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยจัดทำโครงการจัดการน้ำเชิงรุก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการบริหารจัดการน้ำ นำเข้าข้อมูลการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับข้อมูลการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ข้อมูลการตรวจวัดระดับน้ำ ข้อมูลตรวจวัดอัตราการไหล และข้อมูลตรวจวัดน้ำท่วมถนนจากระบบตรวจวัดอัตโนมัติ นำมาประมวลผลด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะให้ผลเป็นการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ทำให้ทราบถึงบริเวณที่คาดว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมและระยะเวลาการท่วมขัง

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบและปรับแก้ระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้น (2) การติดตั้งเซนเซอร์คาดการณ์ระดับน้ำ ปัจจุบัน กทม.ติดตั้งระบบตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติ 255 แห่ง ที่สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และในคลองสายหลักต่าง ๆ ที่ใช้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้งมีการพัฒนาระบบแสดงผลผังน้ำโดยนำข้อมูลระดับน้ำจากโครงข่ายระบบตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติของ กทม.และระดับน้ำนอกพื้นที่กรุงเทพฯ จากหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในจุดที่สำคัญที่คาดว่ามีผลต่อการบริหารจัดการน้ำของ กทม.เข้ามาแสดงในรูปของผังโครงข่ายคลอง ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างครอบคลุมและเป็นไปในทิศทางเดียวกับหน่วยงานพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ พร้อมทั้ง มีแผนงานติดตั้งจุดตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติในคลองสายหลักเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น