SCB 10X ผนึกกำลัง VISTEC ศึกษาและพัฒนา "WangChanGLM" โมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเพื่อคนไทยทุกคน มุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรม AI ของไทย

30 May 2023

SCB 10X ผนึกกำลัง VISTEC ศึกษาและพัฒนา "WangChanGLM" โมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเพื่อคนไทยทุกคน มุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรม AI ของไทย

เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX Group) จับมือ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมกันศึกษาและพัฒนา WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) โมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและสามารถรองรับภาษาอื่นๆ ได้ในรูปแบบ Generative AI และ Large Language Model ภายใต้ใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ ด้วยจุดเด่นในการสรุปเนื้อหา คิดไอเดีย และเขียนบทความภาษาไทย ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ WangChanGLM เปิดให้ทดลองใช้และเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อพัฒนาประสบการณ์ใช้งานโมเดลแล้ววันนี้ที่ https://www.wangchanglm.in.th โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (กลาง) นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมด้วย รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด และคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และนายกสิมะ ธารพิพิธชัย (ซ้าย) Entrepreneur in Residence บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) ร่วมงานเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้

รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด และ และคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า "สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) มุ่งเน้นงานวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับชั้นนำของโลก เปรียบเสมือนเมืองแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราให้ความสำคัญในการผลิตงานวิจัยด้านเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้ เราจึงได้สร้างและพัฒนา WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) AI ด้านโมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและสามารถรองรับภาษาอื่นๆ ได้ในรูปแบบ Generative AI และ Large Language Model ภายใต้ใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ขึ้นมา โดยเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ SCB 10X เข้ามาช่วยในการศึกษาและพัฒนา Demo Interface WangChanGLM ให้สามารถเข้าถึงภาคธุรกิจได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยคนไทยอีกด้วย"

ด้าน นายกสิมะ ธารพิพิธชัย Entrepreneur in Residence บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) กล่าวว่า "SCB 10X เล็งเห็นถึงศักยภาพมหาศาลของเทคโนโลยี AI ในการรับมือกับความท้าทายทางการเงินทั่วโลก นอกเหนือจากภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร เรายังให้ความสำคัญกับภาษา วัฒนธรรม และมรดกของไทย เป็นลำดับแรกๆ การร่วมมือกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในการเปิดตัว Public Demo ของ WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) โดย SCB 10X ได้เข้าส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนา Web Application ที่ง่ายต่อการใช้งานและมีเทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยจุดเด่นในการสรุปเนื้อหา คิดไอเดีย และเขียนบทความภาษาไทยเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการปิดช่องว่างทางภาษาที่ส่วนใหญ่การวิจัย AI จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ SCB 10X ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ผ่านการลงทุน และร่วมสร้างสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง ในกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งโลกอนาคต ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินและการธนาคาร ในมีประสิทธิภาพที่ดีต่อไป"

นอกจากนี้ SCB 10X ยังได้ลงทุนรอบ Pre-Series A ใน วิสัย (VISAI) ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ครบวงจรสำหรับภาคธุรกิจ โดยในรอบนี้ได้ลงทุนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูง และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยคนไทย ผ่าน 3 บริการหลัก คือ AI Cloud Platform บริการโมเดลปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูงบนระบบคลาวด์ AI Solutions บริการให้คำปรึกษาและออกแบบปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในธุรกิจ และ AI Training บริการจัดอบรมความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้ธุรกิจและองค์กร

WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) โมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและสามารถรองรับภาษาอื่นๆ ได้ในรูปแบบ Generative AI และ Large Language Model ภายใต้ใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ ใช้โมเดล XGLM ขนาด 7.5 พันล้านพารามิเตอร์จาก Meta โดยเปิดชุดข้อมูลและโมเดลแบบสาธารณะ (open source) ที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมดบน GitHub และ Google Colab เพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อยอดและเทรนโมเดลได้ด้วยตนเอง พร้อมเปิดให้ผู้ที่สนใจทดลองใช้งานและเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโมเดลแล้ววันนี้ที่ https://www.wangchanglm.in.th

HTML::image(