การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และธนาคารกรุงไทย ร่วมผลักดัน "บัตรเหมาจ่าย" เพื่อชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. ด้วยบัตรเดียว ราคาเดียว 2,000 บาทต่อเดือน ยกระดับคุณภาพบริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ รวมถึง การนำเอาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาปรับใช้ในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการนำเทคโนโลยี EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA ที่เป็นระบบการชำระเงินที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าโดยสารในระบบคมนาคมตามมาตรฐานระดับสากล จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาบัตรเหมาจ่ายไปสู่ระบบตั๋วร่วมที่สมบูรณ์แบบ สามารถใช้สำหรับการเดินทางของประชาชนในภาคขนส่งให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ในทุกระบบ ด้วยการใช้บัตรโดยสารหรือตั๋วร่วมเพียงหนึ่งใบ หรือสามารถนำไปซื้อสินค้า ชำระค่าบริการต่างๆ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินได้ภายในอนาคต
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ตามที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขสมก. จึงได้บูรณาการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนาบัตรโดยสารร่วม ที่สามารถใช้บริการได้ทั้งรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ถือเป็นการนำร่องระบบตั๋วร่วม ระหว่างระบบล้อ และระบบราง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความพึงพอใจและประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมในการสร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือที่ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ได้ใช้บริการรถโดยสาร และรถไฟฟ้าผ่านบัตรร่วม ในราคาที่เป็นธรรม สอดคล้องและรองรับกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารทุกท่าน ด้วยความพร้อมของขบวนรถไฟฟ้าในการให้บริการ รวมถึงยังคงตระหนักและให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลา มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ และจะมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยการเป็นผู้นำในการเดินรถไฟฟ้าที่มีมาตรฐานในระดับสากลต่อไป
นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศที่เป็นกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงทุกวิถีการใช้ชีวิต นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ธนาคารจึงได้วางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้การคมนาคมขนส่งเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก (Ecosystems) ที่ธนาคารมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และในอนาคตมีแผนเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อการบูรณาการตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารแบบบัตรเหมาจ่าย นั้นเป็นการเริ่มและทดลองใช้บริการผ่านระบบ EMV Contactless ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยใช้บัตรเหมาจ่ายในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถเมล์ ขสมก.ได้อย่างไม่มีขอบเขต โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถนั่งได้ถึง 50 เที่ยวหรือ 30วัน ต่อเดือน เช่นเดียวกัน รถเมล์ ขสมก. ก็สามารถนั่งได้แบบไม่จำกัดตลอด 30 วัน โดยบัตรใบนี้มีมูลค่าต่อเดือน จำนวน 2,000 บาท ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารกว่า 20,000คนต่อวัน และรถเมลล์ ขสมก. มีผู้โดยสารกว่า 7 แสนคนต่อวัน
สำหรับการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารแบบบัตรเหมาจ่ายนั้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการรถไฟแห่งประเทศไทยและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในการริเริ่มและทดลองใช้บริการผ่านระบบ EMV Contactless ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเหมาจ่ายชำระค่าโดยสาร ในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถโดยสารของ ขสมก. ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถใช้บริการได้ 50 เที่ยว รถโดยสาร ขสมก. ใช้บริการได้ทุกเส้นทาง ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งบัตรโดยสารดังกล่าว จำหน่ายในราคา 2,000 บาท (ไม่รวมค่าธรรมเนียมออกบัตร)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับ ผู้ให้บริการขนส่งมวลชน ทั้ง ทางด่วน รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมถึงรถโดยสาร เพื่อเป็นการพัฒนาโครงการระบบชำระค่าโดยสารให้ครอบคลุมในอนาคตต่อไป