วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน และยังถือเป็นวันครอบครัว ที่ทุกคนจะได้ใช้เวลาท่องเที่ยวร่วมกันในวันหยุดยาว ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยหนึ่งในหมุดหมายการท่องเที่ยวที่สำคัญอย่าง "พิพิธภัณฑ์ครุฑ" ชวนทุกคนในครอบครัวมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีไทยผ่านเรื่องราวของครุฑซึ่งเป็นหนึ่งในพาหนะของนางสงกรานต์ ด้วยสื่อมัลติมีเดียอันน่าตื่นตาตื่นใจ และที่สำคัญสามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ณ พิพิธภัณฑ์ครุฑ เขตนิคมอุตสาหกรรม บางปู จังหวัดสมุทรปราการ
"พิพิธภัณฑ์ครุฑ" จัดทำขึ้นโดยทีเอ็มบีธนชาต เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน ที่รวบรวมครุฑอันมีเอกลักษณ์เฉพาะองค์จากทุกภาคของไทย โดยอัญเชิญตราที่ประดิษฐาน ณ ธนาคารสาขาต่าง ๆ มากกว่า 150 องค์ มาไว้ด้วยกัน มีความโดดเด่นด้วยองค์ครุฑไม้ที่แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม สะท้อนถึงความประณีตของศิลปิน พร้อมได้เรียนรู้เรื่องราว "พญาครุฑ" สัตว์หิมพานต์ สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม รวมถึงยังเป็นพาหนะของพระนารายณ์ผู้ทรงเป็นหนึ่งในสามมหาเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้คนไทยต่างคุ้นเคยกับ "พญาครุฑ" มาอย่างยาวนาน
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของพญาครุฑ ผ่าน 6 โซนนิทรรศการ ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของพญาครุฑอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งแสง สี เสียง ในรูปแบบทั้งแอนิเมชันและมัลติมีเดีย ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเยี่ยมชมจะได้เรียนรู้และเข้าถึงความเป็นไทยได้อย่างง่าย ๆ และยังเหมาะกับทุกคนในครอบครัว ที่จะได้ร่วมตะหนักถึงคุณค่าขององค์ครุฑและร่วมภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่คนไทยสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
6 โซนไฮไลต์ที่น่าติดตาม
โซนแรก : โถงต้อนรับ โถงนิทรรศการที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยกับตำนานพญาครุฑ ด้วยการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพญาครุฑ ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ AR ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์
โซนที่ 2 : ครุฑพิมาน ห้องนิทรรศการที่ชวนมาเรียนรู้เรื่องการกำเนิดโลกและจักรวาล ท่องไปในดินแดนหิมพานต์ ซึ่งตามความเชื่อถือว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของพญาครุฑ โดยเมื่อเข้ามาในห้องจัดแสดงนี้จะพบกับสระอโนดาตจำลองอยู่กลางห้อง พร้อมรูปปั้นมงคลที่อยู่บริเวณโดยรอบ ประกอบด้วยราชสีห์ ช้าง ม้า และโค รอบพื้นที่จัดแสดงยังเต็มไปด้วยต้นไม้ สัตว์หิมพานต์ ฤๅษี คนธรรพ์ วิทยาธร และต้นไม้นารีผล หรือ มักกะลีผล ที่ออกผลเป็นหญิงสาววัยแรกรุ่นและหน้าตาสวยงามเหมือนนางอัปสร โดยความพิเศษในห้องนี้ยังได้พบกับไข่ของพญาครุฑ ที่มารดา นางวินตาคลอดออกมา และผู้เข้าชมสามารถเข้าไปถ่ายรูปในไข่ได้ด้วย
โซนที่ 3 : นครนาคราช ห้องจัดแสดงที่เนรมิตอุโมงค์ทางเดินกว่า 10 เมตรขึ้นมาให้เป็นมหานครใต้น้ำ ถิ่นที่อยู่ของพญานาค คู่ปรปักษ์ตลอดกาลของพญาครุฑ รวมถึงความเชื่อเรื่องโลกบาดาลในพุทธศาสนา และบทบาทของพญานาคสัตว์พาหนะของพระนารายณ์ พร้อมชมตำนานความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างมารดา ที่เป็นศัตรูกัน เนื่องจากนางวินตา มารดาของพญาครุฑ ได้เป็นทาสของนางกัทรุ มารดาแห่งนาคเป็นเวลาถึง 500 ปี และพญาครุฑต้องไปชิงน้ำอมฤตจากพระนารายณ์ จึงเป็นที่มาของการเป็นศัตรูกันระหว่าง พญาครุฑและพญานาค สำหรับพญานาคที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสายน้ำและมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติ และมีความเชื่อว่าผู้บูชาพญานาคจะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทองเป็นอีกห้องที่น่าติดตามอย่างมาก
โซนที่ 4 : อมตะเจ้าเวหา ตื่นตาตื่นใจกับแสงสีเสียงกับการแสดงเรื่องราวความเพียรพยายาม ความกตัญญูกตเวที และความเสียสละของพญาครุฑผ่านแอนิเมชัน สื่อมัลติมีเดียที่ฉายเต็มผนังห้องเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยในห้องได้เล่าเรื่องราวของพญาครุฑที่ไปชิงน้ำอมฤตและต้องต่อสู้กับพระนารายณ์ แม้ว่าจะแพ้และต้องสละชีวิต แต่พระนารายณ์ก็ทรงยกย่องในเรื่องความกตัญญู พร้อมทรงแลกเปลี่ยนกับพญาครุฑ ขอให้เป็นพาหนะในช่วงพระองค์เสด็จ และพร้อมประทานความเป็นอมตะให้แก่ พญาครุฑ อีกทั้งในห้องนี้จะยังได้พบกับ ครุฑองค์ที่เล็กที่สุดในพิพิธภัณฑ์ที่มีความสูง 15 เซนติเมตร ตั้งอยู่เหนือประตูทางเข้าทั้งสองด้านของห้อง
โซนที่ 5 : สุบรรณแห่งองค์ราชัน ตามรอย "ตราครุฑพ่าห์" ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ที่ยังคงปรากฏเคียงข้างพระองค์เสมอ โดยนำเสนอเรื่องราวของ ตราครุฑพ่าห์ ที่ได้รับการใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมาจากคติไทยรับมาจากเขมรมีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เปรียบดั่งพระนารายณ์อวตารลงมาปกครองบ้านเมือง ผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ อีกทั้งในห้องยังมีครุฑพ่าห์ของธนาคารนครหลวงไทย สำนักงานใหญ่สาขาหาดใหญ่ แกะสลักจากไม้ ซึ่งได้รับการจัดอันดับจากผู้เชี่ยวชาญว่าเป็น ตราครุฑพ่าห์แกะจากไม้ที่ยังคงความสมบูรณ์ของงานแกะไว้ได้มากที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
โซนที่ 6 : ห้องจัดแสดงครุฑ ห้องที่รวบรวมองค์พญาครุฑจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยรวม 150 องค์ ผ่านตราตั้งห้างพระราชทาน และรวบรวม ครุฑพ่าห์ จากธนาคารนครหลวงไทย รวมถึงมีครุฑพ่าห์องค์แรก ที่ธนาคารนครหลวงไทยได้รับพระราชทานให้ประดิษฐาน ณ สาขาราชดำเนิน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารนครหลวงไทย แกะสลักจากไม้สัก ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสมนต์เสน่ห์คุณค่าเหนือกาลเวลา นอกเหนือจากความสวยงามขององค์ครุฑในแง่ของท่วงท่าอันสง่างามที่แสดงถึงพลังอำนาจอันน่าเกรงขามแล้ว ยังมีความสวยงามในด้านคุณค่าและประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์องค์ครุฑแต่ละองค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานไม้ หากสังเกตดี ๆ แล้วจะพบว่าเครื่องทรงแต่ละองค์ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่องค์เดียว ทั้งรูปร่างหน้าตาหรือสีของผ้านุ่ง
นอกจากชมนิทรรศการแหล่งเรียนรู้ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ด้านหน้าอาคารยังมีองค์ครุฑองค์ใหญ่ ที่มีความสูงถึง 4 เมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถมากราบไหว้ขอพรเพื่อรับความเป็นสิริมงคลกลับบ้านไปด้วย รับรองเลยว่าการมาท่องเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์เพียงวันเดียวจะได้รับความรู้ใหม่ พร้อมเรื่องราวที่สุดประทับใจ และเสริมกำลังใจในชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งในปัจจุบันทำให้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมแห่งใหม่ที่คนไทยนิยมมาไหว้ขอพรและเรียนรู้คุณค่าศิลปวัฒนธรรมไทยไปพร้อมกัน
ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์นี้ ขอเชิญมาท่องเที่ยว "พิพิธภัณฑ์ครุฑ" แห่งนี้ เพื่อร่วมสัมผัสประสบการณ์ ท่องไปในดินแดนหิมพานต์ บุกนครนาคราช ชมองค์ครุฑที่แกะสลักอย่างวิจิตรงดงามตามแบบไทย พร้อมเรียนรู้ตำนาน "พญาครุฑ" และทางพิพิธภัณฑ์ยังได้อัญเชิญ สมเด็จมหาราชทรงครุฑ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเพียงรุ่นเดียวที่มีตราพระครุฑพ่าห์ ที่มีพระปรมาภิไธย ภปร. และ นามาภิไธย สก. มาให้ประชาชนได้สรงน้ำในเดือนเมษายนนี้อีกด้วย สามารถลงทะเบียนผ่าน https://www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum/ โดยจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันศุกร์-เสาร์ วันละ 3 รอบ ในเวลา 10:00 / 13:00 / 15:00 น. พร้อมผู้นำชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มีบริการจัดรถตู้บริการรับ-ส่งจากสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส สถานีเคหะสมุทรปราการ ถึง พิพิธภัณฑ์ครุฑ ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านระบบการจองล่วงหน้าผ่าน QR Code
สามารถติดตามเรื่องราวประวัติวามเป็นมาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยทีเอ็มบีธนชาต ผ่าน E-Book ได้ที่ www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum/ebook
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit