มกอช. รุกสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรฐานส่งออกลำไยสดที่รมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปยังประเทศคู่ค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน นางสาวปรียานุช ทพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (มกษ.1004-2557) เป็นมาตรฐานบังคับ ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสินค้าเกษตรตามมาตรฐานดังกล่าว คือ สินค้าลำไยสดที่รมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นต้น โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการส่งออกเป็นจำนวนมากถึง 590,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มกอช. โดยกองควบคุมมาตรฐาน (กคม.) ได้รวบรวมข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการส่งออก พบว่าผู้ประกอบการยังต้องการความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบรับรองการส่งออก มาตรการควบคุมการส่งออก มาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เพื่อสามารถเพิ่มศักยภาพของตนในการแข่งขัน
ดังนั้น มกอช. จึงได้ดำเนินการ โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (สำหรับกลุ่มสินค้าลำไยสดที่รมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์) ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการภายใต้มาตรฐานบังคับรับทราบแนวทางการตรวจสอบรับรองการส่งออก มาตรการควบคุมการส่งออก มาตรฐานการนำเข้าสินค้าลำไยสดที่รมด้วยการซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งได้รับฟังข้อมูลต่างๆและแลกเปลี่ยนซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถ นำไปใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้มอบหมายให้ นายนราธิป คุ้มรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุญาตและขึ้นทะเบียน กคม. พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังข้อมูล การดำเนินการตามมาตรฐานบังคับ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการแจ้งส่งออกลำไยสดที่รมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปยังประเทศคู่ค้า ณ สมาคมการค้าผู้ประกอบการผลไม้ไทยภาคเหนือ และ โรงรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ของผู้ประกอบการ ในพื้นที่อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนมาตรการการควบคุมที่เกี่ยวข้องต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit