นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณฝนเดือน เม.ย.นี้ จะต่ำกว่าค่าปกติว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เตรียมรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ซึ่งในส่วนของ กทม.ได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ และมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมทั้งเฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย สนน.ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ ตลอดจนจัดแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร นอกจากนั้น ยังร่วมกับกรมชลประทานปฏิบัติการ Water Hammer Operation (กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้มีผลต่อการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล
สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สนน.ได้ประสานกรมชลประทานในการผันน้ำผ่านคลองสิบสามและคลองต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยแผนระยะเร่งด่วน กทม.จะขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนระยะยาว ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยการทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างทำนบดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 17 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณคลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง โดยครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนั้น กทม.ได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดและมีคุณภาพจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ รวมปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งสิ้น 868,581 ลบ.ม./วัน แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด และล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยสามารถขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย (1) โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา (2) โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ (3) โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี (4) โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม (5) โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ (6) โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร (7) โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และ (8) ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit