สนจ. จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565" น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช ชวน เติมเลือดใหม่ ช่วยคนไทยไม่ขาดเลือด

19 Oct 2022

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ) โดย อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมฯ จัดแถลงข่าว "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565" ภายใต้แนวคิด Siam Renaissance เชิญคนไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย พร้อมชวนคนรุ่นใหม่บริจาคเลือด "เติม 'เลือดใหม่' ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด" ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม Line OA 'เลือดใหม่' ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

สนจ. จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565" น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช  ชวน เติมเลือดใหม่ ช่วยคนไทยไม่ขาดเลือด

ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการน้อมนำพระราชปณิธานในการสร้างคนมาขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้านของจุฬาฯ "กว่าศตวรรษ จุฬาฯ ยังเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มี ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้วางรากฐานสำคัญด้านการสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) ด้านงานวิจัย พร้อมนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง สร้างอิมแพ็กต่อสังคม (Impactful Research & Innovations) ควบคู่ไปกับความยั่งยืน (Sustainability) โดย 2 - 3 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นวัตกรรมของเราได้ช่วยเหลือคนไทยเป็นจำนวนมาก เช่น รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษตรวจเชื้อโควิดเชิงรุก เป็นต้น"

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายก สนจ. กล่าวว่า "เกียรติภูมิของจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน ทำให้ทุกๆ ปี สนจ. จะจัดงานปิยมหาราชานุสรณ์ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระปิยมหาราช พร้อมภารกิจในการระดมทุนจุฬาสงเคราะห์ ให้กับนิสิตที่ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเป็นทุนจนจบการศึกษา 4 ปี ทุนอาหารกลางวัน โดย 2 ปี ที่ผ่านมาในช่วงโควิด มีนิสิตที่สมัครขอรับทุนอาหารกลางวันเพิ่มขึ้นจาก 300 เป็น 500 คน นอกจากนี้ สนจ. ยังมี กิจกรรมด้านสาธารณกุศลอื่นๆ เพื่อรับใช้สังคม เช่น โครงการข้าวแสนกล่อง กล่องรอดตาย เกิดขึ้นในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติ"

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 กล่าวว่า " ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Siam Renaissance" นำพาคนไทยย้อนกลับไปซึมซับ พระราชกรณียกิจแห่งการวางรากฐานและพระราชทานกำเนิดกิจการต่างๆ จนรุ่งเรืองจวบจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการนำเสนอผ่าน Digital Art ชุด Siam Renaissance, กิจกรรม Less is More โดยทุกการบริจาค 2,500 บาท จะได้รับเสื้อ ที่ ระลึก CU 105 ปี และของขวัญ Surprise สำหรับการบริจาคครบ 25,000 บาท สามารถร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปผ่าน 5 ช่องทาง : (1) สแกน QR Code เข้าสู่เว็บบริจาค www.chula-alumni.com/donation
(2) App CHAM
(3) LINE OA "CHULA ALUMNI" เลือกเมนู "บริจาค"
(4) K Plus ที่ฟีเจอร์ K Plus Market , TTB ให้เข้าไปที่ "ปันบุญ"
(5) บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-62388-9 ชื่อบัญชี "สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์"

สำหรับวันที่ 23 ตุลาคมนี้ เราจัดให้มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน ภาคเช้า : พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต ภาคค่ำ : "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 : The Charity Gala Night" ณ ศาลาพระเกี้ยว เพื่อระดมทุน ในการรับบริจาค พร้อมด้วยคอนเสิร์ตการกุศลจากนักร้องและศิลปินนิสิตเก่าจุฬาฯ ชื่อดัง นำโดย รัดเกล้า อามระดิษ, วสุ แสงสิงแก้ว, รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ, กิตตินันท์ ชินสำราญ, น้ำฝน ภักดี, รัฐพงศ์ ปิติชาญ ติดตามรับชม Live สดได้ทาง FB page : MONO29, Chulalongkorn University และ Chula Alumni"

ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานกิจกรรม CU-DSR กล่าวเสริมว่า "สนจ. เรามีเครือข่ายนิสิตจุฬาฯ อยู่ทั่วทุกมุมโลก และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีการรับบริจาคและ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเสมอ โดยที่ผ่านมา สนจ. ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้เป็น สนจ. 4D โดย D ตัวที่ 4 นั่นคือ DSR : Digital Social Responsibility กิจกรรมเพื่อสังคมแบบออนไลน์ให้รองรับ กับทุกสถานการณ์ โดยปรัชญาในการทำกิจกรรมยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การปรับกิจกรรมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยนำ Digital Platform มาใช้ในการสื่อสาร"

ในส่วนของการบริจาคเลือดกับกิจกรรม "CU-DSR : จุฬาฯ ชวน เติม 'เลือดใหม่' ช่วยคนไทยไม่ขาดเลือด" นางสาวปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงภาวะการขาดแคลนเลือดว่า "ในปัจจุบัน อัตราการใช้เลือดทั่วประเทศ ต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 ยูนิต ซึ่งตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เราประสบกับปัญหาการขาดแคลนเลือด ปีละ 400,000 - 500,000 ยูนิต แม้การบริจาคเลือดจะสามารถทำได้ทุกๆ 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง แต่จากสถิติการบริจาค 1,000,000 คน จะบริจาคปีละ 1 ครั้ง และมีผู้บริจาคเลือดเพียง 60,000 คน ที่จะบริจาคปีละ 4 ครั้ง ทำให้ เลือดที่ได้มายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการบริจาคของเรา คือ นิสิตนักศึกษา จึงอยากเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่หันมาบริจาคเลือดกันให้มากขึ้น มาร่วมกัน ชุบชีวิต เป็นการสร้างบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่"

นางสาวภัทรพร เลิศศิริโรจน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ในฐานะประธานโครงการ CU Blood กล่าวว่า "CU Blood ถือเป็นกิจกรรมตอบแทนสังคมของนิสิตจุฬาฯ ในปีนี้ ถือเป็นปีที่ 10 ที่เราจัดกิจกรรม ตั้งเป้าเชิญชวน คนรุ่นใหม่ ช่วยกันเติมเลือดใหม่ เพื่อให้สภากาชาดไทยไม่ขาดเลือดตลอดทั้งปี และถือเป็นครั้งแรกที่เราได้นำเทคโนโลยี Line OA "เลือดใหม่" เข้ามาช่วยในการบริจาคเลือด เพื่อเป็นการหาเลือดอย่างยั่งยืน โดยไลน์จะช่วยเตือนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในบริจาคเลือดครั้งต่อไป ใกล้สถานที่รับบริจาคเลือด ที่ไหนก็บริจาคที่นั่น เพียงแจ้งรหัสที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น และทุกครั้งที่บริจาคเลือด ยังมีโอกาสได้รับ สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากองค์กรพันธมิตรของพี่ๆ สนจ. อีกด้วย"

สำหรับกิจกรรมในงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 และกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมดได้ทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni และสามารถร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่าน 5 ช่องทาง

(1) สแกน QR Code เข้าสู่เว็บบริจาค www.chula-alumni.com/donation
(2) App CHAM
(3) LINE OA "CHULA ALUMNI" เลือกเมนู "บริจาค"
(4) K Plus ที่ฟีเจอร์ K Plus Market เลือกเมนูบริจาค และTTB ให้เข้าไปที่ "ปันบุญ"
(5) บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-62388-9 ชื่อบัญชี "สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์"

HTML::image(