ไทยร่วมหารือกลุ่มความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน จัดทำความร่วมมือสาขาต่างๆ อาทิ การค้าเกษตร ท่องเที่ยว เทคโนโลยี สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ตั้งเป้าชงผู้นำปลายปีนี้ ด้านไทยชูประเด็นการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมเชียงของ-ห้วยทราย-บ่อหาน-บ่อเต็น มุ่งสร้างเศรษฐกิจให้เข็มแข็งและสร้างอาชีพในพื้นที่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และพัฒนายกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง
นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้หารือถึงการจัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สำหรับสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ โดยจะมีความร่วมมือสาขาต่างๆ อาทิ การค้าสินค้าเกษตร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยตั้งเป้าจะเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้นำแม่โขง-ล้านช้าง ช่วงปลายปีนี้
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับไทยได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง โดยเฉพาะการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างอำเภอเชียง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองห้วยทรายของ สปป.ลาว ให้สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน-บ่อเต็นของจีน และสปป.ลาว เพื่อให้ไทยได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษี การค้า การลงทุน กระบวนการศุลกากร และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันจากประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง เช่นเดียวกับประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย การค้าชายแดน และการสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ โดยกรมได้มอบให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงศึกษาเรื่องนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการผลักดันในเรื่องดังกล่าว ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างต่อไป
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน โดยหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งมีความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ การเกษตร และการลดความยากจน โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนอีกด้วย
HTML::image(
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit