ธนาคารจิตอาสา และความสุขประเทศไทย ผู้ริเริ่มและก่อตั้งโครงการ "อ่านมนุษย์" ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรม "อ่านมนุษย์" ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีแนวคิดว่าการอ่าน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การอ่านหนังสือ แต่เรายังสามารถอ่านสิ่งแวดล้อม อ่านสถานการณ์ อ่านมนุษย์ เพื่อศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จึงได้เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งในมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งล่าสุด เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับฟังและได้รู้จักกันอย่างไม่รีบตัดสิน รวมถึงมองความต่างเป็นความงดงาม เพราะเราทุกคนล้วนแตกต่างกัน
โดยรูปแบบของกิจกรรมคือ การเปิดพื้นที่ให้บุคคลจำนวน 2 กลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้มีปฏิสัมพันธ์ และเปิดใจรับฟังกันอย่างไม่ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกันออกไป แบ่งเป็นกลุ่ม "ผู้อ่าน" และ กลุ่มที่เป็น "หนังสือ" ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Influencer จากเพจ Emutional และ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา "นิ้วกลม" และ "ปูปรุง" มาร่วมเป็นผู้อ่านอีกด้วย ส่วนทางด้านของผู้ที่มาเป็น "หนังสือ" ประกอบไปด้วย คนตาบอด, LGBTQIA+ , คนไร้บ้าน, ผู้พิการวีลแชร์, แรงงานเมียนมา, คนสลัมคลองเตย, คนแต่งคอสเพลย์ ฯลฯ
งานนี้ "โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์" หัวหน้าโครงการอ่านมนุษย์ เล่าว่า "ก่อนอื่นต้องขอบคุณสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ให้โอกาสกิจกรรม "อ่านมนุษย์" ได้เข้ามาเปิดพื้นที่ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ โครงการของเราคิดว่าการอ่านไม่ได้จำกัดเพียงแค่การอ่านหนังสือ เราสามารถอ่านสิ่งแวดล้อม อ่านสถานการณ์ อ่านคนได้ โครงการอ่านมนุษย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้คนในสังคมมีความเข้าใจกัน ไม่ด่วนตัดสินกันจากภายนอกหรืออคติในใจ ภาพจำต่างๆ ที่เราต่างถูกปลูกฝังกันมา แต่ให้มาเปิดใจ เปิดรับความแตกต่าง มาเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน กิจกรรมของเราจึงเป็นพื้นที่ของการอ่าน แต่เป็นการอ่านมนุษย์ที่จะทำให้ทุกคนได้รู้เท่าทันอคติตัวเอง ไม่คล้อยตามไปกับการตีตราของสังคม ให้ได้ตระหนักว่าก่อนที่เราจะไปคุยกับใครสักคน หรือไปเริ่มทำความรู้จักกับใครสักคน เราไม่ควรด่วนตัดสินไปก่อน ซึ่งครั้งนี้เราได้กลุ่มที่มาเป็นหนังสือให้เราหลากหลายมาก เราได้ทำงานร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ดังนั้นเราจึงมีหนังสือที่เป็นทั้ง แรงงานพม่า, LGBTQIA+ , เด็กในสถานพินิจ ฯลฯ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะมาเป็นตัวแทนที่จะบอกต่อไปสู่สังคมวงกว้าง ให้พวกเราได้กลับมาตระหนักว่าบางครั้งเราเองก็เผลอตัดสินใครต่อใครไปแบบไม่รู้ตัว"