อักษร สนับสนุนครูไทยสอนวิชาวิทยาการคำนวณ สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้

01 Nov 2022

ตั้งแต่รัฐบาลเร่งประกาศให้วิชาวิทยาการคำนวณถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 และเริ่มบังคับใช้ให้มีการเรียนการสอนครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยมุ่งเน้นให้เด็กสามารถคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างเป็นกระบวนการ เป็นขั้นตอน รวมไปถึงการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย รู้เท่าทัน

อักษร สนับสนุนครูไทยสอนวิชาวิทยาการคำนวณ สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้

อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านนวัตกรรม และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ทางการศึกษาแบบครบวงจร พร้อมขับเคลื่อนการศึกษาไทยในยุค Digital age ให้เท่าทันการศึกษาโลก สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ตระหนักถึงความสำคัญในการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณ เดินหน้าจัดอบรมและพัฒนาครูทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและทักษะด้าน coding สำหรับบุคลากรทางด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สร้างความมั่นใจ สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับนักเรียนในห้องเรียนของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาได้ พร้อมบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ จนสามารถเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ในอนาคต

ในครั้งนี้ ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยนาย ไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตอบสนองนโยบายภาครัฐมาโดยตลอด ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณให้กับโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และได้รับเกียรติจาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมเยี่ยมชม พร้อมกล่าวว่า "วันนี้การศึกษาของประเทศไทยเรามุ่งที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีความทันสมัย และนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น วิทยาการคำนวณก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งซึ่งทาง สพฐ. เองได้ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนนั้นได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นว่า โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนนำร่องและเป็นโรงเรียนเครือข่าย ได้มีการขยายตัวไปทั่วประเทศแล้วในขณะนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดให้กับนักเรียนด้วยการนำ coding เข้ามาสู่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น โดยผ่านกลไกทางเทคโนโลยี จากการติดตามผลนั้นนักเรียนมีความสนใจ และคิดว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำไปใช้ในการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ใช้ในอุตสาหกรรม หรืองานเกษตร อื่น ๆ ที่ต้องใช้ระบบควบคุมโดยหุ่นยนต์ในอนาคต รวมไปถึงเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้"

และในฐานะที่อักษรเองเป็น Partner กับทางมูลนิธิ Micro:bit Educational Foundation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งโดยกลุ่มองค์กรด้านการศึกษาและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้แก่ British Broadcasting Corporation (BBC), British Council, The Institution of Engineering and Technology, Lancaster University, Nominet UK, บริษัท Microsoft, บริษัท Amazon และบริษัท ARM จึงได้มีการนำ Micro:bit มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำสื่อวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อส่งเสริมพัฒนาและตอบสนองต่อแนวทางการสอนของครูอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมในห้องเรียนได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับพันธกิจหลักของทาง Micro:bit Educational Foundation ที่มีความต้องการอยากให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีความสามารถในการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะ

Mr. Waris Candra ผู้บริหารมูลนิธิ Micro:bit Educational Foundation ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนในครั้งนี้ กล่าวว่า "เพื่อให้บรรลุพันธกิจของเรา เราทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความแตกต่างกันกว่า 80 ประเทศทั่วโลก พันธมิตรของเรามีความสำคัญกับเรามาก เพราะเราเชื่อว่าการมีพันธมิตรจะสามารถช่วยให้เราทำงานร่วมกับโรงเรียนได้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้กับครู สามารถสร้างสรรค์ออกแบบสื่อต่าง ๆ รวมถึงดูแลจัดการเนื้อหาหลักสูตร โปรแกรมที่ใช้ในการฝึกอบรม และหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับนักเรียนได้ เราทำให้ microbit เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการเสริมทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ที่เชื่อมโยงโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพเข้าด้วยกัน เราพร้อมสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมสร้างโลกดิจิทัลในอนาคตที่ดีที่สุด เพราะสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้"

ทางด้าน นายพาคร วงศ์อนุตรโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่าย Learning Solution Development องค์กร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า  "อักษร เชื่อว่าวิชาวิทยาการคำนวณ คือการเตรียมความพร้อมด้านทักษะการคิดของเด็ก ซึ่งการเรียน  coding เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กได้รู้จักคิด แก้ไขปัญหา มองปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถคิดต่อยอดไปจนถึงการคิดขั้นสูง และนำความคิดของตนเองไปใช้ในการสร้างสรรค์ออกแบบ เพิ่มโอกาสในการใช้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างมากในอนาคต ซึ่งเราเองได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาโดยตลอด พัฒนาหลักสูตรอบรม coding ที่เหมาะกับแต่ละช่วงชั้น และจัดทำตัวอย่างแผนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อใช้ในการจัดอบรมให้กับครูหลายหมื่นคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการนำเข้าสื่อฯ จากต่างประเทศ มาพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเรียน coding ให้ครบทุกช่วงชั้นตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยม รวมไปถึงเป็น Partner กับองค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น micro:bit Foundation หรือ code.org ที่ล่าสุดเราเพิ่งได้รับรางวัลจาก code.org ในงาน The Global CS Education Conference ณ สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ริเริ่มพัฒนาอย่างมืออาชีพ ผลักดันและตระหนักถึงความก้าวหน้าในการศึกษาวิชาวิทยาการคำนวณ"

ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เร่งอัตราความเร็วแบบวันต่อวัน และการก้าวเข้ามามีบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของโลกยุคใหม่ ทำให้วิชาวิทยาการคำนวณ เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทัน กับกระแสสำหรับโลกแห่งอนาคต และเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

อักษร สนับสนุนครูไทยสอนวิชาวิทยาการคำนวณ สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit