ขอเรียนเชิญร่วมเป็นเกียรติในเปิดนิทรรศการ "Variety Yo" นิทรรศการเดี่ยวของโยทะกา จุลโลบล นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึง 1 มกราคม 2566 ณ ห้องจริยศิลป์ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)
"Variety Yo" นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 4 ของโยทะกา จุลโลบล ในโลกของศิลปะโยทะกามีบทบาทที่หลากหลาย หลายคนอาจรู้จักโยทะกาในฐานะผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ทางศิลปะ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้บริหารสื่อ แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาโยทะกาเองไม่เคยหยุดที่จะทำอีกหนึ่งหน้าที่ นั่นคือ ศิลปิน นิทรรศการ "Variety Yo" ดึงเอาคำว่า วาไรตี้ หรือ หลากหลายมาเป็นชื่องาน ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำที่สามารถบรรยายความเป็นโยทะกาอย่างได้ใจความชัดเจนและละเอียดมากขึ้น
"Variety is the very spice of life, that gives it all its flavor." หนึ่งในวลีที่โด่งดัง "The Task" (1785) ของ William Cowper (วิลเลียม คูเปอร์) กวีชื่อดังแห่งศตวรรษที่สิบแปด เป็นอีกหนึ่งวลีที่คิดถึงเสมอเมื่อนึกความเป็นโยทะกา วลีนี้ทำให้นึกถึงชีวิตการทำงาน ความสัมพันธ์ ชีวิต ฯลฯ และสำหรับโยทะกาเองการทำงานในหลากหลายบทบาท หรือแม้กระทั้งการเลือกสร้างสรรค์งานในรูปแบบที่แตกต่าง การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย (หรือใหญ่) ทำให้ชีวิตน่าสนใจ "Variety Yo" รวมเอางานรวม 3 ซีรีส์ของโยทะกามาจัดแสดง ประกอบไปด้วย ชุดผลงานวาดเส้น (drawing) ชุดผลงาน Strong flowers Under The Mask ความเชื่อกับสีมงคล และชุดผลงานภาพบุคคล (portrait)
"แม้ว่าเราจะไม่มีเวลาเราก็สามารถที่จะทำงานศิลปะได้อย่างคนไม่มีเวลา Drawing นั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่สเก็ตแต่มัน คือ งานจริง" คือคำกล่าวที่อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ พูดไว้กับศิลปิน เธอจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในชุดวาดเส้น ผลงานในชุดนี้โยทะกาเลือกใช้กระดาษสีดำ เธอถ่ายทอดผลงานโดยใช้ปากกาสีเงินและสีทองแทนความหมายของเวลาที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า
โยทะกานำสัญศาสตร์ และการแทนความเข้ามาใช้ในผลงานผลงานทั้ง 8 ชิ้นใน ชุด Strong flowers Under the Mask ความเชื่อกับสีมงคล บางวัฒนธรรมอาจจะมองว่าหน้ากากนั้นเป็นตัวแทนของความหลอกลวง แต่โยทะกาเลือกตีความ 'หน้ากาก' ต่างออกไป หน้ากากในผลงานของเธอจึงเป็นภาพตัวแทนของจิตใต้สำนึก กิเลส ความอยากจะได้อยากจะเป็นบ่งบอกถึงความต้องการภายในของบุคคลนั้น ๆ ส่วนรูปลักษณ์ของดอกไม้โยทะกาได้แรงดันใจมาจากรูปทรงของดอกป๊อปปี้ตัวแทนของทหารผ่านศึก ดอกป๊อปปี้ถูกนำมาใช้เป็นภาพแทนความแข็งแกร่งความอดทน แม้สีสันหลากหลายสดใสอันเป็นอัตลักษณ์ในผลงานของเธอในทุกชุด แต่ในผลงานชุดนี้โยทะกาเลือกใช้คู่สีตามความเชื่อของคนไทยเรื่องของสีมงคลของคนที่เกิดในแต่ละวัน
สุดท้าย ชุดผลงานภาพบุคคล (portrait) ภาพเหมือนบุคคลที่ต่างจากรูปแบบที่บุคคลทั่วไปคุ้นเคย งานภาพเหมือนบุคคลส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการถ่ายทอดเน้นในการใช้เส้นเยอะแต่ผลงานของโยทะกากลับตรงข้ามเธอเลือกที่จะใช้สีที่เยอะลดทอนเส้นให้เหลือน้อย งานภาพเหมือนบุคคลของศิลปินจึงเป็นอีกหนึ่งชุดผลงานที่ถ่ายทอดภาพความเป็นตัวตนของศิลปินได้อย่างชัดเจน 'She Male' สะท้อนถึงแนวความคิดที่นำเรื่องของเพศสภาพตัวแทนของความหลากหลาย หนึ่งในผลงานในชุดนี้ที่โยทะกาเคยส่งไปร่วมประกวดประเทศอังกฤษ ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นอกไปจากผลงานทั้งสามชุด ในนิทรรศการครั้งนี้มีผลงานที่เป็นประติมากรรมที่ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากประติมากรรมแบบเฉียบพลันที่วิษณุพงศ์ หนูนันท์ ปั้นขึ้นมาเมื่อครั้งโยทะกาได้ไปสัมภาษณ์เขาเพื่อออกรายการโทรทัศน์ สำหรับผลงานชิ้นนี้โยทะกาต้องการถ่ายทอดถึงเรื่องราวชีวิตที่เปรียบดังละครอยู่ในโทรทัศน์ เพราะมนุษย์เราชีวิตก็ล้วนแล้วแต่มีบทบาทแตกต่างกันไม่ต่างกับละครของชีวิต
นิทรรศการในครั้งนี้นำทุกท่านเข้าสู่โลกอันหลากหลายของศิลปิน ทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา สะท้อนถึงการตีความ การรับรู้ของศิลปินที่มีต่อชีวิตและสังคม
นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึง 1 มกราคม 2566 ณ ห้องจริยศิลป์ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) เปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 17:00 น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit