ปัจจุบัน โรคมะเร็งตับถือเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยอุบัติการณ์สูงถึง 27,394 ราย และอัตราการเสียชีวิต 26,704 ราย ภายในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียว โดยยอดผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของประเทศ มูลนิธิรักษ์ตับ ในฐานะกลุ่มผู้ป่วยโรคตับและมะเร็งตับจึงจัดงานเปิดตัวแคมเปญ Voice for Change: หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เพื่อผลักดันการเข้าถึงยานวัตกรรมสำหรับโรคมะเร็งตับให้เข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเสียหายอันอาจเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกำลังการผลิตของประเทศ และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีตัวเลือกในการมอบการรักษาที่ได้มาตรฐานสากลให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย งานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ ภายในงานมีการรณรงค์เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปถึงผลกระทบจากโรคมะเร็งตับ พร้อมเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนที่ต้องการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของยานวัตกรรมที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งตับ และพิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยให้ครอบคลุมยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากล
ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับสูงที่สุด เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดต่าง ๆ ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพยังระบุว่าโรคมะเร็งตับที่พบในประเทศไทยมีความชุกอยู่ที่ 22.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งจัดว่าสูงเป็นอันดับที่ 6 เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มะเร็งตับพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 40-70 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมซึ่งนำไปสู่โรคตับจากพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
ชนิดของมะเร็งตับที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma - HCC) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 โดยผู้ป่วยมักตรวจพบเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว เพราะภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีมักไม่แสดงอาการ ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าจะมีแนวทางการรักษามะเร็งตับที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การปลูกถ่ายตับ การอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่จะเลือกแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับระยะของโรคและความพร้อมทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวนไม่น้อยกลับไม่สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งตับที่มีผลการวิจัยรับรองถึงประสิทธิภาพด้านการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสิทธิเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลของคนไทยที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายโอกาสการเข้าถึงแก่ผู้ป่วยมะเร็งตับมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียความสามารถในการทำงานและการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า "มะเร็งตับถือเป็นภัยเงียบทางสุขภาพที่คุกคามชีวิตของคนไทยจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้กว่าผู้ป่วยจะเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โรคมะเร็งตับมักดำเนินไปสู่ระยะลุกลามแล้ว ทำให้ตัวเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคมีอยู่อย่างจำกัด ทุกวันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทยนั้นได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งช่วยยืดการมีชีวิตรอดออกไปได้เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น ดังนั้น การรับมือกับโรคมะเร็งตับจึงเป็นความท้าทายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทย ที่จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนสิทธิเบิกจ่ายยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของโรคและได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล แคมเปญ 'Voice for Change: หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ' เล็งเห็นว่าเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนก็มีบทบาทในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงต่อเส้นทางการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งตับได้เช่นกัน โดยร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ สนับสนุนแคมเปญเรียกร้องให้หน่วยงานที่พิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลของไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของยานวัตกรรมที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งตับ และบรรจุยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากลลงในรายการเบิกจ่าย ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งตับ รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรวัยทำงานก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจส่งผลต่อผลิตภาพและการขับเคลื่อนประเทศ"
มูลนิธิรักษ์ตับ จึงเปิดตัว แคมเปญ 'Voice for Change: หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ' เพื่อสะท้อนผลกระทบจากโรคและผลักดันการเข้าถึงยานวัตกรรมสำหรับโรคมะเร็งตับให้เข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org ซึ่งมีเป้าหมายรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิดีโอในโลกออนไลน์ เพื่อสะท้อนความยากลำบากที่ผู้ป่วยมะเร็งตับและครอบครัวต้องเผชิญ และความสำคัญของเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่จะนำไปสู่การพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุม การลงพื้นที่รณรงค์ในกรุงเทพฯ เพื่อขยายการรับรู้ของประชาชนทั่วไปถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยที่ยังไม่ครอบคลุมยานวัตกรรมสำหรับรักษามะเร็งตับ และเชิญชวนผู้ที่สนใจให้ร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ change.org รวมถึง การลงพื้นที่รณรงค์ในจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราความชุกของโรคมะเร็งตับมากที่สุดในประเทศ โดยประชาชนสามารถร่วมลงชื่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ change.org และแบบฟอร์มกระดาษ โดยแคมเปญมีเป้าหมายที่รวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อนำไปประกอบจดหมายเปิดผนึกและยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย อันจะนำไปสู่โอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย คลายความกังวลใจด้านต่าง ๆ ของผู้ดูแล ลดการสูญเสียทรัพยากรแรงงานของประเทศ และช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยยรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพนี้ได้อย่างยั่งยืน
ทุกเสียงมีความสำคัญต่อการผลักดันการพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาล ร่วมลงชื่อในแคมเปญ 'Voice for Change: หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ' ทางเว็บไซต์ change.org
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit