fintips by ttb เปิดสูตร จบ ครบ เรื่องการลดหย่อนภาษี ปี 2565

20 Dec 2022

ทราบหรือไม่ มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องทำเรื่องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากไม่วางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจจะทำให้ต้องเสียภาษีตามฐานภาษี 5% - 35% เลยก็ได้ แต่ถ้ามีสูตรการวางแผนภาษีที่ดีอย่างการคำนวณว่าในปีนี้เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเตรียมไว้ อาจจะทำให้ประหยัดภาษีได้หลักหมื่น หรือหลักแสนเลยทีเดียว

fintips by ttb เปิดสูตร จบ ครบ เรื่องการลดหย่อนภาษี ปี 2565

วันนี้ fintips by ttb ขอนำเสนอ รายการลดหย่อนภาษี ปี 2565 มีอะไรบ้าง สามารถอ่านครบ จบ ในที่เดียวได้เลย  เริ่มจากพื้นฐานความรู้เรื่องการเสียภาษี ว่ารายได้เท่าไหร่จึงต้องเสียภาษี คำตอบคือ มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทั้งปีตั้งแต่ 316,300 บาทขึ้นไป หรือประมาณ 26,359 บาทต่อเดือน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการ การันตีว่าการมีรายได้เท่านี้ต้องเสียภาษีเสมอไป เพราะในชีวิตจริงเราสามารถใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพื่อให้เราเสียภาษีน้อยลง หรือไม่เสียภาษีเลยได้ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น สามารถยื่นแบบเอกสาร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือจะยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งหากยื่นแบบออนไลน์จะสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2566

ในกรณีที่ยื่นภาษีไม่ทันตามเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้โดยต้องยื่นแบบกระดาษด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และต้องเตรียมเอกสารประกอบการยื่นแบบภาษี ได้แก่  แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90, หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)  และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี

โดยการยื่นภาษีย้อนหลัง ต้องชำระค่าปรับตามกำหนดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้  หากมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ  และหากไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเพียงค่าปรับตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากรอย่างเดียว

มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คน อาจจะเห็นถึงความสำคัญ และสนใจเรื่องการลดหย่อนภาษีกันแล้ว ดังนั้น มาดูกันว่ารายการลดหย่อนภาษีในปี 2565 นั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส-ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  3. บุตร หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยต้องเข้าเงื่อนไข เป็นผู้เยาว์ มีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หรืออุดมศึกษา
  4. ค่าฝากครรภ์ และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ค่าดูแลพ่อและแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จึงจะหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และสามารถลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท และมีบัตรประจำตัวคนพิการ

กลุ่มประกัน และการลงทุน

  1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท แต่เนื่องจากในปี 2565 รัฐบาลมีการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 ลง 2 ครั้ง ในรอบเดือน พ.ค. - ก.ค. และ ต.ค. - ธ.ค. ทำให้ค่าลดหย่อนประกันสังคมเหลือเพียง 6,300 บาท
  2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ตัวเอง และของคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  3. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้ว (ข้อ 3 + ข้อ 4) ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • ระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
  • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  2. RMF คือ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
  • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  1. SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 13,200 บาท ทั้งนี้ กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข.,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
  • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อ หรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
  • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
  • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน
  1. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  2. ช้อปดีมีคืน 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • ซื้อสินค้า และบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 65
  • ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น

กลุ่มเงินบริจาค

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิ และองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีการวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี  และหาตัวช่วยเพื่อลดหย่อนภาษีตามสิทธิ เช่น รายการด้านบน จะทำให้สามารถเสียภาษีน้อยลง หรือไม่เสียภาษีเลยได้

สุดท้าย !!! สำหรับผู้ที่ซื้อกองทุน SSF/RMF ในปี 2565 ซื้อกองทุนแล้ว  อย่าลืม!!! แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนทราบ หากไม่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน ผู้ลงทุนจะเสียสิทธิในการลดหย่อนภาษี สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนผ่านธนาคารที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยลงทะเบียนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 สำหรับลูกค้า ทีทีบีดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.ttbbank.com/th/page/detail/mf-tax-amc

เพิ่มเติมข้อมูลความรู้ และเคล็ดลับทางการเงินดี ๆ เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งวันนี้และอนาคต ได้ที่ "fintips by ttb" เรื่องเงินที่รู้จริงแบบเพื่อนที่รู้ใจคลิก https://www.ttbbank.com/th/fin-tips-hm17 หรืออ่านบทความเต็มได้ https://www.ttbbank.com/th/fin-tips-tax65