DTI จับมือ MUT เปิดตัวหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก "D-EMPIR version 4" หลังวิจัยพัฒนาจนเป็นผลสำเร็จ เดินหน้าต่อยอดยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสู่ระดับสากล
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) เปิดตัว หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก "D-EMPIR version 4" ที่ได้ศึกษา วิจัย พัฒนาต่อยอดและสร้างขึ้นร่วมกันระหว่าง DTI และ MUT จนได้เป็นหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็กฝีมือคนไทย 100% ที่ผ่านการทดสอบและสาธิตการใช้งานให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงได้เห็นถึงสมรรถนะ ศักยภาพและขีดความสามารถ จนเกิดการยอมรับ อีกทั้งยังผ่านการทดสอบมาตรฐานจากคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม (กมย.กห.) เพื่อยืนยันประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเทียบเท่าได้กับหุ่นยนต์จากต่างประเทศ สามารถใช้งานได้จริง ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และต้นทุนที่ใช้ในการผลิตถูกกว่าหุ่นยนต์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง โดย "D-EMPIR version 4" ได้ถูกส่งมอบให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) กล่าวว่า "โครงการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR version 4 เป็นความร่วมมือระหว่าง DTI กับ MUT ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเราต้องนำเข้าหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดจากต่างประเทศ ซึ่งหุ่นยนต์จากต่างประเทศต่อชุดมีราคาสูงตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไปต่อระบบจนถึง 50 ล้านบาท แต่ยังพบปัญหาการใช้งานเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมไปถึงปัญหาการดำเนินการซ่อมบำรุง อีกทั้งหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เมื่อนำไปใช้งานจริงแล้วเกิดปัญหาหุ่นยนต์ใช้งานยากและตอบสนองล่าช้าและไม่เสถียรภาพ ทำให้ใช้เวลาในการทำงานนานมาก ขณะที่หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR V.4 ที่ DTI และ MUT ได้คิดค้นขึ้น ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานและซ่อมบำรุงได้ง่ายส่งผลให้การปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิดใช้เวลาน้อยกว่า และซ่อมบำรุงได้ง่ายเมื่อเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้นำเทคนิคการวิเคราะห์จลศาสตร์แบบย้อนกลับ มาประยุกต์ใช้ในระบบแขนกล ทำให้ใช้งานหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น คล่องตัวขึ้น และช่วยประหยัดเวลาในการเก็บกู้วัตถุระเบิดถึง 30-50% และข้อดีอีกเรื่องหนึ่งคือ ความสะดวกในการซ่อมบำรุง หากหุ่นยนต์เกิดปัญหาในการใช้งาน MUT สามารถนำทีมเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้ทันที ตัดความยุ่งยากในการที่ต้องรออะไหล่หรือต้องส่งไปซ่อมถึงต่างประเทศซึ่งใช้เวลานาน"
ด้านพล.อ.ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) กล่าวว่า "หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR version 4 ที่ DTI ร่วมกับ MUT วิจัยและพัฒนาขึ้น ถือเป็นผลงานความสำเร็จและความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่เราสามารถผลิตหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดได้โดยฝีมือคนไทย 100% ซึ่งแสดงให้ถึงศักยภาพของนักวิจัยคนไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ไม่แพ้ชาติตะวันตก MUT เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์และขีดความสามารถด้านวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงห้องปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศ ดังนั้น หุ่นยนต์ที่ DTI และ MUT ร่วมกันพัฒนาขึ้นมานั้น จึงมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล สามารถใช้งานได้จริง ง่ายต่อการใช้งาน เหมาะกับสภาพภูมิประเทศในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก "D-EMPIR version 4" นี้ ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จนได้ต้นแบบงานวิจัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการ กมย.กห. และส่งมอบให้กับหน่วยผู้ใช้คือ กอ.รม.ภาค 4 สน. เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้"
องค์ความรู้ที่ DTI และ MUT ได้พัฒนาร่วมกันมา ถือว่าเป็นการบูรณาการองค์ความรู้และฐานเทคโนโลยีย่อยในการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรด้านหุ่นยนต์ให้สามารถต่อยอดเพื่อตอบสนองภารกิจตามความต้องการของผู้ใช้งานไม่ว่าจะทางการทหารหรือภาคพลเรือน ในลักษณะเทคโนโลยีสองทาง หรือ Dual Use Technology อาทิเช่น สนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ D-EMPIR CARE ซึ่งต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ D-EMPIR V.2.1 เป็นต้น สนับสนุนภารกิจของ กฟน. โดยต่อยอดหุ่นยนต์ของ สทป. สำหรับภารกิจการสำรวจและตรวจสอบระบบสายส่งไฟฟ้าในอุโมงค์ใต้ดินลึกลงไป 30 เมตร เป็นพื้นที่อับอากาศ มีความเสี่ยง อันตรายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และสนับสนุนภารกิจของ กฟผ. โดยต่อยอดหุ่นยนต์ของ สทป. สำหรับภารกิจการล้างลูกถ้วยในสถานีย่อยไฟฟ้าแรงสูง
"หนึ่งในบทบาทที่สำคัญของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ในการผลักดันและส่งเสริมต้นแบบงานวิจัยดังกล่าวไปสู่เชิงพาณิชย์ ในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดการพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งจะพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัยนี้ไปใช้สนับสนุนภารกิจของภาคพลเรือนในลักษณะเทคโนโลยีสองทาง หรือ Dual Use Technology อีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่11 (S - Curve 11) ของรัฐบาล เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" ด้วยการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ เปลี่ยนสถานะประเทศไทยจากผู้ซื้อ ผู้ใช้ เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิตและผู้ขาย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสู่ระดับสากล" พลเอก ชูชาติ บัวขาว กล่าวเสริ
HTML::image(