นายกรัฐมนตรีรับมอบครอบพระเศียรทองคำและเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ 164 รายการ มูลค่า 83 ล้านบาทเป็นสมบัติของชาติ กรมศิลป์เตรียมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมให้การต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและสื่อมวลชน พร้อมทั้งนำชมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การรับมอบโบราณวัตถุเพื่อเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชม"ครอบพระเศียรทองคำ"ที่รับคืนมาจากสหรัฐอเมริกาและโบราณวัตถุ"เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์" หลังจากนั้น ได้รับมอบสมุดบัญชีโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจำนวน 164 รายการ และมอบประกาศเกียรติคุณผู้มอบโบราณวัตถุแก่กรมศิลปากรให้กับนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการฯชุดนี้ขึ้น เมื่อพ.ศ.2560 โดยมีรมว.วธ.เป็นประธานอธิบดีกรมศิลปากร เป็นเลขานุการ ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯที่ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนร่วมกันดำเนินงาน โดยใช้วิธีทางการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ เป็นผลของการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุในครั้งแรก จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ รับกลับคืนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ส่วนอีก 8 ครั้ง จำนวน 609 รายการ เป็นการประสานงานร่วมกันของกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศกับส่วนราชการประเทศต่างๆ ช่วยตรวจสอบและแจ้งส่งมอบโบราณวัตถุไทยกลับคืน ได้แก่ โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุประเภทรูปเคารพ รวมถึงครอบพระเศียรพระพุทธรูปทองคำ และโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผา ศิลปะลพบุรี จำนวน 164 ชิ้น ซึ่งผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯได้สร้างกระแสความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ให้เห็นคุณค่าของโบราณวัตถุหากได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด โดยมีผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุแก่รัฐบาลไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้นำครอบพระเศียรทองคำ มูลค่า 1 ล้านบาท มาจัดแสดง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบจากชาวอเมริกัน ครอบพระเศียรทองคำนี้มีเนื้อหาทองคำ 95 เปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ประกอบด้วยส่วนครอบพระเศียรกว้างยาว 14 เซนติเมตร ยาว 17.6 เซนติเมตร น้ำหนัก 12.7 กรัม และส่วนพระรัศมีสูง 12.7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร น้ำหนัก 28.9 กรัม เทคนิคดุนทองและตีทอง ในเบื้องต้นสันนิฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนิยมใช้ประดับพระเศียรพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน และนำส่งมอบให้กรมศิลปากรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงได้เชิญนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (ภริยา) ผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุ ประกอบด้วยโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนมากถึง 164 รายการ มูลค่า 82 ล้านบาท โดยนำมามอบให้แก่นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาล เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ทั้งนี้ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี กรมศิลปากรได้พบแหล่งผลิตเป็นเตาเผาจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในอดีตระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-19 นิยมผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ คือใช้น้ำเคลือบสีน้ำตาล สีเขียว สร้างสรรค์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าในภูมิภาค ปัจจุบันจึงพบเครื่องปั้นดินเผาจากเตานี้ในแหล่งโบราณคดีที่เป็นศาสนสถานทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีส่วนหนึ่งที่นำมาจัดแสดงในวันนี้เป็นโบราณวัตถุชิ้นเอก ประกอบด้วย ไหเคลือบสีน้ำตาลรูปนก เป็นภาชนะที่ออกแบบให้มีความพิเศษ เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อพื้นเมือง คณโฑเคลือบสีเขียวรูปพระคเณศ ตอนบนปั้นเป็นรูปพระคเณศ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ตอนล่างเป็นส่วนภาชนะทรงกระบอก สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู คณโฑเคลือบสีเขียวรูปลิง ใช้เทคนิคปั้นและกดลวดลายเป็นองค์ประกอบตัวลิงบนผิวภาชนะ และกลุ่มภาชนะเคลือบสีน้ำตาลรูปสัตว์ต่างๆ ได้แก่ นก กวาง กระต่าย หมูป่า สิงห์ ตัวนิ่ม แมว ปลา กบ สะท้อนจินตนาการผู้สร้างงานที่มีแรงบันดาลใจจากสัตว์ป่าในบริเวณเทือกเขาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อครั้งอดีต สำหรับโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีที่ได้รับมอบครั้งนี้ กรมศิลปากรจะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมและศึกษาหาความรู้ตามเจตนารมณ์ของผู้มอบต่อไป
สำหรับ นายโยธิน ธาราหิรัญโชติ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทบีเอสวายกรุ๊ป มีความสนใจในศิลปกรรมโบราณโดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา จึงศึกษารวบรวมเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์มานานกว่า 20 ปี โดยได้ให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศศึกษาวิจัยเครื่องปั้นดินเผาชุดดังกล่าว กระทั่งได้องค์ความรู้เรื่องศิลปะการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ และได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ "Khmer Ceramics, Beauty and Meaning" เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2553 ทำให้เครื่องปั้นดินเผาชุดนี้เป็นที่ที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากนักวิชาการสากลว่าเป็น"เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย" โดยการมอบโบราณวัตถุครั้งนี้ นายโยธินมีความตั้งใจดีที่จะให้คนไทยได้ชมและเรียนรู้ด้วยความภาคภูมิใจต่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอันเป็นความสามารถของคนไทยในอดีต และจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจให้มาเที่ยวชมมากยิ่งขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit