ม.มหิดล ส่งเสริม "เกษตรไทยหัวใจอินทรีย์" ออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบปลูกสมุนไพรและทำการเกษตรปลอดภัย
แม้โลกจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ แต่แหล่งอาหารส่วนใหญ่ตลอดจนที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของมนุษย์อยู่บนบกองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs 15) "Life On Land" ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตบนบก สู่การทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
แม้จังหวัดกาญจนบุรี หรือ "เมืองกาญจน์" จะอยู่ในพื้นที่เขาหินปูน ที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง แต่อาจทำการเกษตรปลูกพืชไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร หากขาดการออกแบบการทำการเกษตรที่เหมาะสม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ "คนดีศรีกาญจน์ศึกษา ประจำปี2564 จังหวัดกาญจนบุรี"
จากการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี - เอก ก่อนมาเป็นอาจารย์สอนทางด้านเคมีอินทรีย์ เคมีวิเคราะห์ และเคมีอาหาร ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มาทำประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนตำบลวังกระแจะ และตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีจนได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านต้นแบบ "หมู่บ้านสมุนไพรและเกษตรปลอดภัยไทรโยค"
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ได้อุทิศตัวลงพื้นที่ "ใช้ชุมชนเป็นห้องแล็บ" เพื่อศึกษาโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของชุมชนกลับมาสร้างสรรค์สู่งานวิจัยคุณภาพ โดยได้มีบทบาทหลักในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมาย
หนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การทำให้เกษตรกรไร่มันสำปะหลังสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่าสองเท่าจากการแนะนำวิธีการปรับปรุงหน้าดิน โดยใช้ "แม่ปุ๋ย" ซึ่งเป็นแหล่งรวมธาตุอาหารที่จำเป็นต่อหน้าดิน มาผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม และปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในทุกรอบการปลูก ด้วยการเอาใจใส่ติดตามจนบังเกิดผล
นอกจากนี้ ยังได้นำเอาศาสตร์พระราชาเรื่อง การใช้ประโยชน์จากการปลูกหญ้าแฝก สู่การสร้าง "กระถางมีชีวิต" แก่ชุมชน ที่นอกจากช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้กับหน้าดินแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต จากการใช้น้ำได้น้อยลง ลดการกำจัดวัชพืชได้ และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องปลูกหญ้าแฝกบ่อย ซึ่งช่วยประหยัดแรงงานได้อีกด้วย
รวมทั้งได้ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี โดยใช้ข้อได้เปรียบของดินในพื้นที่เมืองกาญจน์ ซึ่งเป็นเขาหินปูนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุแคลเซียม ทำให้สามารถปลูกพืชบางชนิดได้ผลผลิตที่โดดเด่นไม่เหมือนเช่นพื้นที่ใดๆ ในประเทศไทย
ไม้ผลเมืองกาญจน์ที่ขึ้นชื่อ อาทิ ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมังคุด ซึ่งเปรียบเหมือน "ราชินีแห่งผลไม้" ของไทยโดยพบว่าด้วยคุณสมบัติของดินอันอุดมไปด้วยแคลเซียมของพื้นที่เมืองกาญจน์ ทำให้ได้มังคุดที่มีรสชาติหวานอร่อยเนื้อสมบูรณ์ ไม่เป็นเนื้อแก้ว เป็นต้น
และนอกจากชุมชนเมืองกาญจน์จะมีของดีจากพืชสมุนไพรต่างๆ แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ยังได้ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ถึงพืชผักท้องถิ่นที่มักไม่ขึ้นในพื้นที่เคมี แต่ให้ผลดีในเขตป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่อินทรีย์ ได้แก่ผักปลัง ผักกูด และผักหวานป่า ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านอาหารปลอดภัยให้กับชุมชนได้ต่อไปอีกด้วย
นอกจากงานบริหารในฐานะผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี แล้ว
ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดกาญจนบุรี (Agritech and Innovation Center; AIC) โดยพร้อมให้คำปรึกษา อบรมบ่มเพาะเกษตรวิถีใหม่(Smart Farmers) แก่เกษตรกรในชุมชน ตลอดจนผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ สู่การเป็น "เกษตรไทยหัวใจอินทรีย์" ที่ยั่งยืนต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit