กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานห่วงความปลอดภัยลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย เตือนลูกจ้างและนายจ้างปฏิบัติตามหลัก 3จ 1ป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตราย
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับสารเคมีจนอาจเป็นเหตุทำให้ลูกจ้างได้รับอันตราย จึงได้กำชับให้ กสร. กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างกลุ่มนี้และให้ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้นายจ้าง ลูกจ้าง ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่ง กสร. ได้ให้ความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานทุกอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ กสร. ได้จัดแคมเปญ SAFE LIFE ขึ้น โดยมีหลัก "3จ 1ป"ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายเป็นหนึ่งในแคมเปญรณรงค์นี้ด้วย หลักดังกล่าวประกอบด้วย การแจ้ง การจัดเก็บ การจัดการ และการประเมิน โดย " การแจ้ง " หมายถึง สถานประกอบกิจการที่ใช้สารเคมีต้องแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย ( สอ.1 ) ต่อ กสร. ภายในเดือนมกราคมของทุกปี แจ้งข้อมูลบนฉลากสารเคมี สัญลักษณ์วิธีการทำงานที่ถูกต้อง ป้ายเตือนหรือป้ายห้ามต่างๆ ให้ลูกจ้างเข้าใจ " การจัดเก็บ " หมายถึง สถานที่จัดเก็บสารเคมีต้องมีระยะห่างที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน "การจัดการ" หมายถึง มีการจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณที่จัดเก็บสารเคมีให้สะอาด เป็นระเบียบ มีระบบระบายอากาศและระบบป้องกันมลพิษที่ถูกต้อง โดยลูกจ้างต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างรัดกุม และ " การประเมิน " หมายถึง มีการประเมินความเสี่ยงการก่ออันตรายของสารเคมีที่ใช้และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกจ้างเป็นประจำ
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายนั้น สามารถป้องกันได้ หากทุกฝ่ายตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงอยากเน้นย้ำให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยและยึดหลัก 3จ 1ป เป็นแนวทางปฏิบัติในสถานประกอบกิจการอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 02-4489128-39 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 1506 กด 3 และ 1546
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit