ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง ตามนโยบายตลาดนำการผลิต "น่านโมเดล" โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดี กรมหม่อนไหม ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการ ตลอดจนประชาชน เข้าร่วม ณ ลานเอนกประสงค์บ้านหนองแดงใหม่ ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวคิดการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยให้หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคบูรณาการการทำงานร่วมกัน และแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน ประสานข้อมูลความต้องการด้านการตลาดจับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ลดปัญหาทั้งกรณีสินค้าเกษตรล้นตลาดและไม่เพียงพอ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ร่วมกันวางแผนการผลิตรังไหมให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ลดการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ ลดการบุกรุกทำลายป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว สามารถแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ ปัญหาสำคัญของภาคเกษตร คือ การผลิตสินค้าแล้วไม่มีตลาดรองรับ สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ด้วยเหตุนี้นโยบาย "ตลาดนำการผลิต" จึงเป็นแนวทางที่เกษตรกร สามารถวางแผนการผลิต เพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการร่วมกัน
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวคิด และวิธีการปลูกพืชของเกษตรกร โดยยึดแนวนโยบาย "ตลาดนำการผลิต" ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาปฏิบัติ โดยได้แสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ซึ่งจากข้อมูลการผลิต พบว่า บริษัท มีความต้องการผลผลิตรังไหมปีละ 5,000 ตัน แต่เกษตรกรสามารถผลิตได้เพียงปีละ 2,000 ตัน ซึ่งจากโอกาสทางด้านการตลาดดังกล่าว จึงได้วางแผนการผลิตร่วมกันทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านผลผลิตและราคา รวมถึงการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้พื้นที่น้อย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายสิบปี และที่สำคัญได้สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร โดยดำเนินการทำข้อตกลงซื้อขายรังไหมในระบบเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเกษตรกรในการรับซื้อรังไหมที่เป็นระบบและเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย สร้างความไว้วางใจกัน และความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการบูรณาการ การทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการ ในปี 2564 มีเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง จำนวน 305 ราย ได้ผลผลิตรังไหมรวม 58.3 ตัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นเงิน 9,075,530 บาท สำหรับในปี 2565 คาดการณ์ผลผลิตรังไหมประมาณ 60 ตัน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และจะขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป