พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการที่อาจเกิดจากการกระทำละเมิดแรงงานต่างด้าว กิจกรรม : การฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่อาจเกิดจากการกระทำละเมิดแรงงานต่างด้าว โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร
พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้หมดจากประเทศไทย โดยได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ และได้การดำเนินการขจัดปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กระทรวงแรงงานถือเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยรับผิดชอบการดำเนินงานในด้านป้องกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคง และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ อาทิ การปรับปรุงแก้ไขและตรากฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานในทุกประเภทการทำงาน การจัดระบบบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่เสมอภาคกับแรงงานไทย การดำเนินนโยบายการให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานโดยยึดหลักการปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และไม่เลือกปฏิบัติด้านสัญชาติ เพศ หรือสถานะทางสังคม สอดคล้องตามหลักสากล ส่งเสริมสถานประกอบกิจการ/นายจ้าง ให้นำแนวปฏิบัติในการใช้แรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practices (GLP) มาปรับใช้เพื่อให้มั่นใจว่าสถานประกอบกิจการ/นายจ้าง จะไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการค้ามนุษย์ ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานในทุกประเภทการทำงาน
พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2565 กระทรวงแรงงานได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตามมาตรา 6/1 ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นคู่มือในการคัดกรองอันจะเป็นประโยชน์ต่อการระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 (TIP Report 2022) โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ในระดับ Tier 2 จากเดิมที่ถูกจัดระดับให้อยู่ในระดับ Tier 2 Watchlist ในปี พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือที่เพิ่มมากขึ้นจากประชาคมโลก ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน แขกผู้มีเกียรติ วิทยากร เจ้าหน้าที่โครงการฯ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) จำนวน 100 คน ซึ่งถือเป็นการร่วมผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ในการขับเคลื่อนนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit