โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม สานต่อความร่วมมือโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools) สาธิตจุฬาฯ - เมืองโคเงะ (Koge Town) จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย - ญี่ปุ่น ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศไทย การลงนามความร่วมมือครั้งที่ 2 ระหว่างทั้งสองฝ่าย จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารบริหารและปฏิบัติการ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ รศ.พัชรี วงจรรังสี ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม Mr.Tsubone Shusuke นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ และ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้ริเริ่มโครงการ ร่วมพิธี
รศ.พัชรี วรจรัสรังสี ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เปิดเผยว่า โครงการโรงเรียนพี่น้อง หรือ Sister Schools ระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม กับเมืองโคเงะ จังหวัด ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2558 เพื่อให้นักเรียนเมืองโคเงะได้เรียนรู้การสื่อสารภาษาอังกฤษ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ทั้งนี้นักเรียน พร้อมด้วยนายกเทศมนตรี คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา และคณะครูจากโรงเรียนของเมืองโคเงะจำนวน 4 โรงเรียนได้มาเยือนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้เดินทางไปเยือนเมืองโคเงะ นำมาสู่การลงนาม MOU โครงการเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โครงการนี้มุ่งหวังให้นักเรียนทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมอันงดงามของทั้งสองประเทศ
" 6 ปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้นำนักเรียนเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในเมืองโคเงะ ประเทศญี่ปุ่น โดยนักเรียนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในโฮมสเตย์ มีการแลกเปลี่ยนทางด้านศิลปะ การวาดภาพ การแสดงดนตรีไทยและญี่ปุ่น รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เมื่อปีที่แล้วมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์ทั้งหมด คาดว่าในปี 2566 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม" รศ.พัชรี กล่าว
Mr.Tsubone Shusuke นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือโรงเรียนพี่น้องระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมและเมืองโคเงะ สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อปี 2560 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 130 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น และมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกันเป็นครั้งที่ 2 การสร้างความตระหนักและเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสองประเทศ มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมามีนักเรียนจากเมืองโคเงะเดินทางมาแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม จำนวน 4 ครั้ง รวม 103 คน และนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เดินทางไปแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนประถม 4 แห่งในเมืองโคเงะ จำนวน 5 ครั้ง รวม 122 คน ในอนาคตอันใกล้มีแผนจะจัดโครงการห้องเรียนออนไลน์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะและกีฬาระหว่างกัน
"กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช่นนี้ นอกจากจะสร้างเสริมประสบการณ์และความประทับใจให้นักเรียนทั้งสองประเทศได้สัมผัสวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแล้ว ในอนาคตยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียน ทั้งสองประเทศจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนระดมความคิดเห็นระหว่างกันในหลากหลายสาขา อาทิ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้การแลกเปลี่ยนนี้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น" นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit