เนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี การได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและได้มาตรฐานจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยปัจจุบันหน่วยฟอกไตของรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีความจำเป็นต้องเพิ่มรอบการให้บริการการฟอกไต เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งสำหรับพื้นที่ภาคกลางตอนบน รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติถือเป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างครบวงจรแห่งเดียว ทำให้คนในพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างจ.สระบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาฟอกไตในกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นรพ.ที่รับส่งต่อผู้ป่วยที่ยากไร้ ที่เกินศักยภาพการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในบริเวณกรุงเทพตอนเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงมอบเงินจำนวน 55 ล้านบาทแก่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง "ศูนย์ไตเทียม" ที่มีเครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafiltration) จำนวน 30 เครื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยยากไร้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังได้เข้าถึงการรักษาที่ทั่วถึงและได้มาตรฐาน โดยมุ่งเป็น Center of Excellence ที่รองรับผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตอย่างครบวงจร ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแบบเฉียบพลัน (Acute Hemodialysis) และแบบเรื้อรัง (Chronic Hemodialysis) การล้างไตผ่านทางช่องท้อง การผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการให้บริการทำ Plasmapheresis เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์ฯ จะต่อยอดเป็นสถานที่การเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และแพทย์ประจำบ้านด้านอายุรศาสตร์โรคไต สอดคล้องกับพันธกิจของ GULF ที่มุ่งส่งเสริมด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมากว่า 2 ปี ทาง GULF ก็ได้มีการดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการมอบงบสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือจัดทำข้าวกล่องให้คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นการได้มีส่วนร่วมในการสร้างศูนย์ไตเทียมครั้งนี้ ทาง GULF หวังว่าศูนย์ไตเทียมแห่งใหม่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไต และเป็นศูนย์การแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลในระยะยาวต่อไป"
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า "ปัจจุบันศูนย์ไตเทียมมีผู้ป่วยเข้ารับการบริการเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไตรุนแรงและซับซ้อนเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยปัญหาข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และอุปกรณ์ ทำให้ปัจจุบันหน่วยฟอกไตโรงพยาบาลจำเป็นต้องเพิ่มรอบการให้บริการเป็น 3 รอบต่อวัน อย่างไรก็ตามหน่วยฟอกไตก็ยังไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทั้งหมด และยังมีผู้ป่วยตกค้าง ที่ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการล้างไต แต่ไม่สามารถรับบริการได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนพันธกิจของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยยากไร้ให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จึงมีนโยบายเปิดศูนย์ไตเทียมอัจฉริยะแบบประสิทธิภาพสูง จำนวน 30 ยูนิตขึ้น เพื่อเป็นการขยายศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต และได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตในระยะยาว ต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัทที่เห็นความสำคัญของการสร้างศูนย์ไตเทียมอัจฉริยะแห่งนี้"
"ศูนย์ไตเทียมอัจฉริยะแบบประสิทธิภาพสูงจะเป็นศูนย์เพื่อให้บริการฟอกไตแก่ผู้ป่วยยากไร้ที่ได้รับความทุกข์จากโรคไตวายแบบเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและได้มาตรฐาน เป็นหน่วยงานที่จะให้บริการผู้ป่วยโรคไตโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ OPD (ผู้ป่วยนอก) จนถึง OR (ห้องผ่าตัด) และ หอผู้ป่วย มุ่งให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ มุ่งให้บริการแบบครบวงจร One stop service ที่ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะเลือด การตรวจ การรับยา และทำหัตถการต่าง ๆ ในเวลาที่รวดเร็วขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น" รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวเสริม
"ศูนย์ไตเทียม" ตั้งอยู่ชั้น 4 ในอาคารห้องปฏิบัติการและรังสีวินิจฉัย รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 900 ตารางเมตร โดยเครื่องฟอกไตทั้ง 30 ตัว เป็นเครื่องฟอกไตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart IT System) ในการประเมินวิธี ลักษณะการฟอกไต และปริมาณสารน้ำที่ต้องใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายโดยการคำนวณผ่านน้ำหนัก ผลเจาะเลือด รวมถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยในขณะฟอกไต เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับการฟอกไตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมตามอาการ นอกจากนี้เครื่องฟอกไตดังกล่าวจะอาศัยกระบวนกำจัดของเสีย 2 กระบวนการรวมกัน คือ กระบวนการแพร่ และกระบวนการพา โดยได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรป เพราะสามารถขจัดของเสียโมเลกุลขนาดใหญ่ในร่างกาย ซึ่งการฟอกไตแบบเดิมไม่สามารถทำได้ ลดการติดเชื้อ ผลข้างเคียง อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการเสียชีวิต โดยรวมคือจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีชีวิตที่ยืนยาวมากกว่าการฟอกเลือดปกติในระยะยาว โดยในขณะนี้ศูนย์ไตเทียมอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการภายในปีพ.ศ. 2566
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit