เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลกรณีที่มีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวงานวิจัยของอังกฤษที่ระบุว่า ผู้สูบบุหรี่ 2 ใน 5 คน เลิกบุหรี่เพราะบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากสภาท้องถิ่นเมืองนอร์ฟอล์ก อังกฤษ มีนโยบายแจกคูปองเพื่อรับบุหรี่ไฟฟ้าฟรีว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลเฉพาะคนสูบบุหรี่ที่ได้รับแจกคูปองที่มีเพียง 668 คน และในจำนวนนี้มีเพียง 340 คน ที่นำคูปองมารับบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนข้อมูลที่ระบุว่า 2 ใน 5 คน หรือ 40% ของคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลิกสูบบุหรี่ได้นั้น ก็เป็นเพียงผลในระยะ 4 สัปดาห์เท่านั้น แต่เมื่อติดตามไป 12 สัปดาห์ พบว่าอัตราการเลิกสูบบุหรี่เหลือเพียง 15% ซึ่งนักวิจัยออกมายอมรับแล้วว่า ตัวเลขนี้ต่ำกว่าอัตราการเลิกสูบของประชาชนเมืองนอร์ฟอล์ก ที่ใช้บริการช่วยเลิกบุหรี่แบบปกติที่ไม่ได้รับแจกคูปองบุหรี่ไฟฟ้า ที่เมื่อติดตามไป 12 สัปดาห์เลิกบุหรี่ได้ถึง 43.7%
"การศึกษานี้ไม่มีการเปรียบเทียบกับคนสูบบุหรี่ที่ไม่ได้รับคูปอง หรือไม่ได้นำคูปองมารับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอัตราการเลิกสูบบุหรี่เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบแล้วก็ไม่สามารถนำมาอ้างได้ว่า การเลิกสูบบุหรี่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจริง หัวหน้าทีมวิจัยชิ้นนี้ เคยเป็นวิทยากรในงานประชุมบุหรี่ไฟฟ้าที่สนับสนุนโดยอุตสาหกรรมยาสูบหลายครั้ง เช่น งาน Global Forum on Nicotine จัดโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ ที่ได้รับเงินจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติรายหนึ่ง และมีวิทยากรหลายคนมีประวัติรับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความไม่เป็นกลางของงานวิจัยนี้" รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังไม่ยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ผลจริง และยังแนะนำให้ผู้สนใจให้หาข้อมูลอย่างรอบคอบ อย่าหลงเชื่อข่าวที่อาจจะนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน ข้อมูลปัจจุบันที่ได้รวบรวมพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ธรรมดานั้น พบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วการเลิกสูบบุหรี่คือการเลิกผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท เราไม่สนับสนุนให้เลิกบุหรี่ชนิดนึงแต่ไปติดบุหรี่อีกชนิด ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า งานวิจัยผลการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ศึกษาในอังกฤษ ไม่สามารถที่จะนำมาใช้หรือชี้นำการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ในไทยได้ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่จะส่งผลต่อความตั้งใจมุ่งมั่นของคนสูบบุหรี่ที่จะเลิกสูบ และความพร้อมของระบบรวมทั้งบุคลากรการแพทย์ที่จะรักษาการเลิกสูบบุหรี่ ระหว่างไทยและอังกฤษแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้อังกฤษยังมีระบบภาษียาสูบที่ดีกว่าไทย ทำให้ราคาบุหรี่มีราคาแพงทั้งบุหรี่โรงงานและยาเส้นที่มีราคาขายใกล้เคียงกันทำให้คนต้องเลิกสูบแทนการหันไปสูบบุหรี่ราคาถูกกว่าที่เกิดขึ้นในไทย ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่อังกฤษได้คะแนนเต็ม 10 ขณะที่ไทยได้เพียง 6 คะแนน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ที่จะช่วยให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้นอย่างจริงจัง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit