ผลการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ (Henley Passport Index) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) เผยให้เห็นว่า ปัจจุบัน ผู้ถือพาสปอร์ตที่สามารถเดินทางไปยังประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้มากที่สุด กลับถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางมากที่สุด โดยจากการจัดอันดับพาสปอร์ตทั่วโลกตามจำนวนจุดหมายที่เดินทางไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival) พบว่า ญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 ด้วยจุดหมายที่เดินทางไปได้สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 193 แห่ง ขณะที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้รั้งอันดับ 2 ร่วม ที่ 192 แห่ง
แม้พลเมืองของทั้งสามประเทศจะสามารถเดินทางไปยังจุดหมายทั่วโลกได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 17 ปีของการจัดทำดัชนี แต่ข้อมูลสถิติล่าสุดของ IATA กลับชี้ว่า ความต้องการเดินทางระหว่างประเทศของผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพียง 17% ของระดับก่อนเกิดโควิด และอยู่ต่ำกว่า 10% เกือบตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าห่างจากแนวโน้มทั่วโลกอย่างมาก โดยในยุโรปและอเมริกาเหนือฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 60% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด ทั้งนี้ ดร. มารี โอเวนส์ ทอมเซน (Dr. Marie Owens Thomsen) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IATA ได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานการเดินทางทั่วโลกของเฮนลี่ย์ (Henley Global Mobility Report) ประจำไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า ภายในปี 2565 จำนวนผู้โดยสารน่าจะสูงถึง 83% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด "ในปีหน้า ตลาดหลายแห่งน่าจะมีจำนวนผู้โดยสารแตะหรือสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด และคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นทั่วโลกในปี 2567"
ผลการจัดอันดับเผยให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ครองอันดับที่เหลือใน 10 ประเทศที่มีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุด โดยเยอรมนีและสเปนอยู่ในอันดับ 3 ร่วม และสามารถเดินทางสู่จุดหมาย 190 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า ขณะที่ฟินแลนด์ อิตาลี และลักเซมเบิร์ก ตามมาในอันดับ 4 ร่วม ด้วยจุดหมาย 189 แห่ง ด้านเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน อยู่ในอันดับ 5 ร่วม ด้วยจุดหมาย 188 แห่ง ส่วนสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาตกไปอยู่อันดับ 6 และ 7 ตามลำดับ และอัฟกานิสถานยังคงรั้งอันดับสุดท้ายของดัชนี ด้วยจุดหมายเพียง 27 แห่งเท่านั้น ส่งผลให้ช่องว่างด้านการเดินทางระหว่างพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดและน้อยที่สุดของโลกมีความแตกต่างกันมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนถึง 166 จุดหมาย
ความวุ่นวายในการเดินทางช่วงหน้าร้อน
หลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาววันชาติ 4 กรกฎาคม ความสับสนวุ่นวายในการเดินทางในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มบรรเทาลง แต่ปัญหาการขาดแคลนพนักงานและปัญหาอื่น ๆ ยังคงทำให้สายการบินทั่วยุโรปต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายพันเที่ยวบิน จนเกิดการรอคิวนานหลายชั่วโมงตามสนามบินหลัก ๆ เช่น สนามบินฮีทโธรว์ต้องขอให้สายการบินต่าง ๆ หยุดขายตั๋วช่วงหน้าร้อน เนื่องจากสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรประสบปัญหาในการรับมือกับการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ
ดร. คริสเตียน เอช. เคลิน (Dr. Christian H. Kaelin) ประธานของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) และผู้ริเริ่มแนวคิดการทำดัชนีพาสปอร์ต กล่าวว่า ความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในระยะหลังเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเลย "ผลสำรวจล่าสุดเป็นเครื่องตอกย้ำว่าคนเรามีความปรารถนาในการเชื่อมโยงกันทั่วโลก แม้ว่าบางประเทศจะมุ่งสู่การปิดประเทศและพึ่งพาตัวเองก็ตาม ผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตของเรา ดังนั้น การฟื้นตัวและการฟื้นฟูเสรีภาพในการเดินทาง รวมถึงสัญชาตญาณโดยธรรมชาติของเราในการเดินทางและย้ายถิ่นฐานเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา"
ยูเออีคือผู้ชนะท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด
ตลอดระยะเวลาสองปีแห่งความสับสนวุ่นวาย สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของพาสปอร์ตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งขณะนี้รั้งอันดับ 15 โดยสามารถเดินทางสู่จุดหมาย 176 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยูเออีไต่อันดับสูงสุดในดัชนี จากอันดับ 64 ด้วยจุดหมายปลายทางเพียง 106 แห่งในปี 2555 นอกจากนี้ รายงานสรุปข้อมูลการโยกย้ายความมั่งคั่งส่วนบุคคลของเฮนลี่ย์ (Henley Private Wealth Migration Dashboard) ยังแสดงให้เห็นว่า ยูเออีได้กลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนผู้มั่งคั่ง และคาดว่ายูเออีจะมีผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNWI) ไหลเข้าประเทศมากที่สุดในโลกในปี 2565 ที่ระดับ 4,000 คน หรือพุ่งขึ้นถึง 208% จากปี 2562 ซึ่งมีผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงไหลเข้าสุทธิ 1,300 คน และถือเป็นสถิติสูงสุดของประเทศ
ประเทศที่สงบสุขมีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลกว่า
การวิจัยที่ไม่เหมือนใครซึ่งจัดทำโดยเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส เพื่อเปรียบเทียบการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่ากับคะแนนดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างอิทธิพลของพาสปอร์ตกับความสงบสุขของประเทศ โดยพบว่าทุกประเทศที่ติด 10 อันดับแรกในดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ ก็ติด 10 อันดับแรกของดัชนีสันติภาพโลกเช่นกัน และเป็นไปในทำนองเดียวกันสำหรับประเทศที่รั้งท้ายตาราง
คุณสตีเฟน คลิมซัก-แมสชัน (Stephen Klimczuk-Massion) ผู้ดำรงตำแหน่ง Quondam Fellow ของซาอิด บิสิเนส สคูล (Sa?d Business School) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานการเดินทางทั่วโลกของเฮนลี่ย์ ประจำไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า "พาสปอร์ตของคุณเป็นใบเบิกทางมากกว่าที่เคยเป็นมา ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพาสปอร์ตของที่ใดและคุณกำลังจะไปที่ไหน โดยมีผลต่อการต้อนรับที่คุณจะได้รับ สถานที่ที่คุณสามารถไปได้ และความปลอดภัยเมื่อเดินทางไปถึง พาสปอร์ตไม่ได้เป็นเพียงแค่เอกสารการเดินทางที่อนุญาตให้คุณเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอีกต่อไป จุดแข็งหรือจุดอ่อนของพาสปอร์ตส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ถือพาสปอร์ต และอาจเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายได้ในบางสถานการณ์"
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.henleyglobal.com/newsroom/press-releases/2022-passport-index-global-mobility-q3
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit