"คำไทยกับคนไทย" สำคัญอย่างไร? วธ.-จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการและนิทรรศการ "คำไทยกับคนไทย" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติปี 2565 เผยแพร่คำไทย ทั้งในมุมมองเชิงภาษา วรรณคดี และคติชนไทย ปลูกฝังให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นใหม่เห็นคุณค่ากับการศึกษาภาษาไทยต่อไป
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ อีกทั้งปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล็งเห็นความสำคัญของภาษาไทยที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการ ต่อการใช้ภาษาไทย การคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน และ การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นต้น ล่าสุด วธ. จึงร่วมกับ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักบริหาร จัดกิจกรรมงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ขึ้นในหัวข้อ "คำไทยกับคนไทย" ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 27 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ อาคารศิลปวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคำในภาษาไทย ทั้งในมุมมองเชิงภาษา วรรณคดี และคติชนไทย แก่นิสิต บุคลากร และบุคคลทั่วไปรวมถึงปลูกฝังให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และเห็นความสำคัญของ "คำไทย" ที่มีต่อ "คนไทย" ในมิติต่างๆ อันจะสร้างความงอกงาม ให้แก่การศึกษาภาษาไทยต่อไป
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การเสวนาทางวิชาการ 2 หัวข้อ ได้แก่ การเสวนาเรื่อง "คำ: ร่องรอยความคิด ทิศทางสังคม" โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับคำภาษาไทยในมิติต่าง ๆ และการเสวนาเรื่อง "ใครสร้างคำ คำสร้างใคร" โดยคณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม และรูปแบบออนไลน์ผ่านเพจ "CU Art Culture" ของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม, เพจ "เอกภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ" และเพจ "Chula Museum" ของพิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นิทรรศการ "ใครสร้างคำ คำสร้างใคร" ที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการสร้างคำ การบัญญัติศัพท์ ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยและภาษาถิ่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคำกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวจะจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม - 27 กันยายน 2565 ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.arts.chula.ac.th/thai/index.php/pr/2022/07/07/5885/ และลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://cutt.ly/5LuY1Di
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit