ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงครัวไทยสู่ครัวมุสลิมโลก ครบครันนวัตกรรมและการบริการด้านการมาตรฐานฮาลาล การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานระดับสากลตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ช่วง พ.ศ.2537-2538 เกิดกระแสกังวลในหมู่มุสลิมประเทศไทยเรื่องการปนเปื้อนสิ่งหะรอม (สิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการในศาสนาอิสลาม) ในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล (อนุมัติตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม) สำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งในเวลานั้นดูแลการรับรองฮาลาลได้ขอให้นักวิทยาศาสตร์จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารฮาลาลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิม ต่อมาใน พ.ศ.2540 ห้องปฏิบัติการได้ตรวจพบการปนเปื้อนสุกรในไส้กรอกเนื้อสำหรับมุสลิมกระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่
นับจากนั้น กระแสความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในอาหารฮาลาลเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมุสลิมให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 สนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหารไทย ต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2547 ให้ยกระดับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปสู่การยอมรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยในโลกมุสลิม ส่งผลเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ซึ่งครัวมุสลิมนับเป็นครัวขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรมุสลิมถึง 2,000 ล้านคน
"ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลผ่านการมาตรฐานฮาลาล (Halal standardization) และการตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาล (Halalness) ตามมาตรฐาน เป็นแห่งเดียวในประเทศที่เน้นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมทั้งสร้างสรรค์งานวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ศูนย์ฯพัฒนางานมาอย่างต่อเนื่องร่วม 20 ปีแล้ว" รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพันธกิจของศูนย์ฯ
ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล รศ.ดร.วินัย ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 500 ผู้ทรงอิทธิพลในโลกมุสลิมจากศูนย์ยุทธศาสตร์อิสลามศึกษา (The Royal Islamic Strategic Studies Centre) ภายใต้รัฐบาลจอร์แดน เป็นปีที่ 13 ติดต่อกันนับจาก ค.ศ.2010 เป็นต้นมา
ตลาดฮาลาล โอกาสของเศรษฐกิจไทย
ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา เมื่อไทยมีนโยบายเปิดประเทศให้เป็น "ครัวของโลก" มีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ขึ้นใน พ.ศ.2547 นับจากนั้นศูนย์ฯก็แสดงบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก
"แม้ประเทศไทยมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม แต่คนมุสลิมทั่วโลกเชื่อมั่นอาหารฮาลาลจากประเทศไทยเมื่อรับทราบว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการพิสูจน์และรับรองมาตรฐานตามแนวทางศาสนาควบคู่วิทยาศาสตร์" รศ.ดร.วินัย กล่าวพร้อมเผยตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ "ตลาดฮาลาลเป็นตลาดที่ใหญ่ ครอบคลุมประชากร 1 ใน 4 ของโลก หรือราว 2,000 ล้านคน ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกผลผลิตทางอาหารและการเกษตรที่มีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 24 ของผลผลิตมวลรวมของชาติ (GDP) ให้ความสนใจเศรษฐกิจฮาลาลโลก (World Halal economy) มาก เนื่องจากมูลค่าสูงกว่า 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เฉพาะอาหารมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ"
ด้วยมูลค่าของตลาดที่มีขนาดมหึมาเช่นนี้ ใน พ.ศ.2558 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติผลักดันยุทธศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยสู่คุณภาพ "ผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับเพชร" (Thailand Diamond Halal) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558
HAL-Q การมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร
รศ.ดร.วินัย อธิบายว่า "ฮาลาล หมายถึง สิ่งที่อนุมัติให้มุสลิมบริโภคได้อย่างปลอดภัย ทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ จำเป็นต้องปราศจากการปนเปื้อนสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ได้แก่ สุกร สุนัข สัตว์มีเขี้ยวเล็บเพื่อล่าเหยื่อ สัตว์มีพิษ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ สัตว์บกสัตว์ปีกที่บริโภคได้ต้องผ่านการเชือดตามหลักศาสนาอิสลามด้วย เป็นสัตว์แข็งแรง ไม่เป็นโรค ไม่ทรมานก่อนเชือด ผู้เชือดเป็นมุสลิม อุปกรณ์เชือดถูกหลักการ ความซับซ้อนของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเป็นผลให้มุสลิมใส่ใจในมาตรฐานฮาลาลปลอดภัย"
โดยทั่วไป มาตรฐานเป็นเรื่องของหลักการตามเอกสาร ขณะที่การนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ เรียกกันว่า "การมาตรฐาน" (Standardization) ในทางสากลมีการกำหนดระบบการมาตรฐานพื้นฐานไว้ ดังเช่น SOP, SSOP, GMP, HACCP ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้พัฒนาแนวทางบูรณาการเข้ากับระบบดังกล่าว เช่น Halal-GMP/HACCP ที่ต่อมาพัฒนาสู่ระบบ HAL-Q (Halal Assurance, Liability-Quality System) ซึ่งได้รับรางวัล Best Innovation in Halal Industry จากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียใน พ.ศ. 2549
"HAL-Q เป็นระบบการบริหารจัดการครบวงจรเพื่อรับประกันและรับผิดชอบสภาพฮาลาล บูรณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารเพื่อผลิตอาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม สะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล"
รศ.ดร.วินัย กล่าวว่าปัจจุบัน มีโรงงานเข้าร่วมระบบ HAL-Q กว่า 770 โรงทั่วประเทศ ครอบคลุมแรงงานกว่า 200,000 คน
นอกจาก ระบบ HAL-Q แล้ว ศูนย์ฯ ยังพัฒนาระบบ SILK (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol) ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมในงาน World Halal Research Summit ประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2555 "SILK เป็นระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานฮาลาล โลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับฮาลาล ครั้งแรกของโลก เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบ HAL-Q สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (Competitive advantage) ให้กับอุตสาหกรรมที่นำระบบ HAL-Q ไปประยุกต์ใช้" ต่อมา จึงพัฒนาต่อยอดระบบ SILK เกิดเป็นระบบ SPHERE (System Protocol for Halal Electronic Resource Exchange) แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบฮาลาลตั้งแต่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร หน่วยราชการ องค์กรศาสนาอิสลาม มหาวิทยาลัย ไปจนถึงผู้บริโภค
สร้างคนพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล
ด้วยหลัก "ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ" ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มุ่งพัฒนา "คน" 2 กลุ่ม ได้แก่ นักวิชาการศาสนาและนักวิทยาศาสตร์ ให้เข้าใจศาสตร์ทั้งสองไปพร้อมกัน
"เราพัฒนานักวิชาการศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ โดยนำนักวิชาการศาสนาฝึกอบรมในภาคอุตสาหกรรมตามแนวทางวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้นักวิชาการศาสนามีความรู้เพิ่มเติมทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย"
"ขณะเดียวกัน เราสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเข้าใจงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นทุนเดิมให้เข้าใจงานศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกแยะสิ่งที่ฮาลาล หะรอม" รศ.ดร.วินัย กล่าว
ในแนวทางพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่เป็นทั้งนักวิชาการศาสนาและนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้จับมือกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย พัฒนาระบบและหลักสูตรการอบรมสำหรับกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจการฮาลาล นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการฮาลาล ผลิตภัณฑ์ฮาลาล ฮาลาลโลจิสติกส์ ฮาลาลการเงิน ฮาลาลการท่องเที่ยว การแพทย์พยาบาลฮาลาล ฯลฯ
"มาตรฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนควรใช้เทคนิคอะไร วิธีการแบบไหน คุณภาพของคนที่เข้าไปทำงานควรเป็นแบบคนลักษณะไหน คนที่ต้องตัดสินจะเป็นคนกลุ่มใด ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมององค์รวมทั้งระบบ" รศ.ดร.วินัย ยกตัวอย่างสาระที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบหลักสูตรการอบรม
วิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยในเวทีสากล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ไม่เพียงได้รับการยอมรับภายในประเทศ แต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยตั้งแต่ พ.ศ.2560 ศูนย์ฯ เข้าเป็นสมาชิกและคณะทำงานของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries - SMIIC) ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของ SMIIC ทุกปี
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเป็นจุดเชื่อมโยงโลกมุสลิมทั้งระดับภูมิภาค และนานาชาติด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติและแสดงสินค้าฮาลาล Thailand Halal Assembly เป็นประจำทุกปีด้วย
ตรวจสอบฮาลาลฉับไวด้วย Halal Blockchain
การเข้าร่วมเวทีนานาชาติในโลกมุสลิม ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายฮาลาลที่เข้มแข็งทั่วโลก สร้างระบบ Halal Blockchain เทคโนโลยีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีข้อมูลครบถ้วน ตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงปลายทางที่เป็นการซื้อขายของผู้บริโภค
"เนื่องจากฐานข้อมูลของบล็อกเชนฮาลาลจะถูกแบ่งปันในทุกสถานี (Node) ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานฮาลาลตามระบบดิจิตอล ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลจึงง่าย เพียงแค่สแกนรหัสคิวอาร์ (QR-code) ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ ในบล็อกเชนคุณสามารถตรวจสอบและระบุกลุ่มที่อยู่ในระบบได้ง่ายดาย เทคโนโลยีนี้จึงขัดขวางไม่ให้หน่วยงานในระบบทำการฉ้อฉลข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานฮาลาล ในขณะเดียวกันระบบจะช่วยจัดอันดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้เข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานฮาลาลอื่นๆ ตามลำดับประสิทธิภาพในการให้บริการของพวกเขา" ระบบ Halal Blockchain นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
นวัตกรรมเด่นจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
เกือบ 2 ทศวรรษ ศูนย์ฯ ไม่เคยหยุดการวิจัยและพัฒนาทั้งระบบมาตรฐานและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล มีหลายงานที่สร้างความภูมิใจแก่ศูนย์ฯ เช่น ระบบ Halal-GMP/HACCP ได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านอุตสาหกรรมฮาลาลจากงาน World Halal Forum ประเทศมาเลเซีย พ.ศ.2549 ระบบ HAL-Q ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริหารภาครัฐ ระดับดีเด่น พ.ศ.2556 ล่าสุดคือ H-Number ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริหารภาครัฐ ระดับดีเด่น พ.ศ.2563
"H-Number คือ ฐานข้อมูลการถอดรหัสสารเคมีฮาลาลที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกแทนที่ระบบรหัสแบบ E-Number หรือ รหัส INS Number ซึ่งเป็นระบบที่มีใช้กันทั่วโลก" รศ.ดร.วินัยกล่าวเชิญชวนให้ผู้ผลิตนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้
"ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ตรวจและถอดรหัสสารกว่าพันชนิดผ่านการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล สารและผลิตภัณฑ์ต่างๆกว่า 1.3 แสนชนิด ดูตั้งแต่ที่มาของสาร ขั้นตอนการผลิต เพื่อคัดแยกสารเคมีที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก (นะญิส) ออกจากสารที่สะอาด กระทั่งได้เป็นฐานข้อมูล H-Number ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนแก่ผู้ผลิต และโรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องคัดเลือกตรวจซ้ำสารก่อนเข้ากระบวนการผลิตตามหลักฮาลาล"
นอกจากนี้ นวัตกรรมเด่นอื่นๆ ของศูนย์ฯ มีอาทิ สบู่ดินสำหรับชำระล้างสิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลาม ผลิตภัณฑ์ดูแลสิวผสมแร่ดิน (คาโอลิน, เบนโทไนท์) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ ระบบตรวจติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสิงค้าฮาลาลโดยใช้บาร์โค้ดชนิดสองมิติ (ได้รับรางวัลดีเด่นจากงาน World Halal Research ประเทศมาเลเซีย) ผงไมโครแคปซูลจากน้ำมันเมล็ดเทียนดำสกัดเย็นช่วยต้านอนุมูลอิสระ และชุดตรวจเนื้อต้องห้ามอย่างง่าย โดยใช้เทคนิค multiplex PCR ร่วมกับ DNA strip (nucleic acid lateral flow)
"ชุดตรวจนี้ใช้เวลาตรวจประมาณ 1.30 ชั่วโมง (ปกติใช้เวลาตรวจ 1 วันในห้องปฏิบัติการ) สามารถตรวจพบการปนเปื้นของสัตว์ต้องห้ามแบบรวดเร็ว 5 ชนิดพร้อมกัน ได้แก่ สุกร ลิง หนูนา แมว และสุนัข ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย"
มั่นใจฮาลาลชัวร์! ทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ
สำหรับผู้บริโภค หรือผู้นำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ถูกหลักฮาลาลหรือไม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลยินดีไขข้อข้องใจ โดยใช้ "บริการทดสอบตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์" ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ครอบคลุมการตรวจทดสอบการปนเปื้อนเจลาติน กลีเซอรรอล สารประกอบโพลาร์ สัดส่วนไขมัน ปริมาณเอธิลแอลกอฮอล์ การปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกร และคอลลาเจนสุกร เป็นต้น โดยห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพการบริหารจัดการตามระบบ ISO 9100:2008
ผู้ประสงค์ส่งตัวอย่างทดสอบติดต่อได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 11-13 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร. 0-2218-1054 อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit