EA เซ็นเอ็มโอยูกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ "โครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้า - แบตเตอรี่" ผลักดันให้ได้รับการยอมรับระดับชาติ เข้าสู่ "บัญชีนวัตกรรมไทย"

08 Apr 2022

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เซ็นบันทึกความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ เพื่อร่วมมือวิจัยพัฒนานวัตกรรมและขบวนการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงระบบแบตเตอรี่และระบบที่เกี่ยวข้อง ฟาก"อมร ทรัพย์ทวีกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อผลักดันนวัตกรรมให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติ ผ่านการเข้าบรรจุบัญชีนวัตกรรมไทย เผยเดินหน้ารุกขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสปีด พร้อมเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างจริงจัง

EA เซ็นเอ็มโอยูกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ "โครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้า - แบตเตอรี่" ผลักดันให้ได้รับการยอมรับระดับชาติ เข้าสู่ "บัญชีนวัตกรรมไทย"

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 บริษัทฯได้เซ็นบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นร่วมมือในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและขบวนการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงระบบแบตเตอรี่และระบบที่เกี่ยวข้อง

"จากความร่วมมือในครั้งนี้จะสนับสนุนในการผลักดันนวัตกรรมให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติ ผ่านการเข้าบรรจุบัญชีนวัตกรรมไทย ตลอดจนร่วมมือในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกัน และการให้บริการทางวิชาการและคำปรึกษาตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยมีระยะเวลาของความร่วมมือ 5 ปี" นายอมรกล่าว

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2565 บริษัทฯจะมุ่งเน้นรุกขยายในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจ New S-Curve โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการให้บริการดูแลซ่อมบำรุงหลังการขายที่ครบวงจร

พร้อมทั้งมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนซึ่งสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานได้เองครบทุกกระบวนการด้วยกำลังการผลิตในระยะเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนให้กับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของบริษัทในระยะแรก ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry และรถบรรทุกไฟฟ้า

นอกจากนี้บริษัทมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้รองรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเทคโนโลยี Ultra Fast Charge ที่ทันสมัยที่สุด ที่ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ที่มีชื่อว่า EA Anywhere โดยบริษัทมุ่งหวังยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีความทันสมัย สะดวกสบายและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมไร้คาร์บอนอย่างจริงจัง

HTML::image(