ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ เปิดตัวแอปพลิเคชัน PDPlus ช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันบันทึกอาการแบบ Real time พร้อมระบบเตือนทานยา เกมทดสอบประเมินการเคลื่อนไหว และระบบรายงานผลให้แพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) คืออะไร?
พาร์กินสัน (Parkinson's Disease) เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สถิติปี 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันราว 60,000 คน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้ดูจะสูงขึ้นตามจำนวนประชากรสูงวัยในสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยสถิติล่าสุดเผยว่า 3 % ของประชากรสูงวัยในประเทศมีอาการของโรคพาร์กินสัน (ราว 360,000 คน จากจำนวนประชากรสูงวัยราว 12 ล้านคนในปัจจุบัน)
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) มีอาการอะไรบ้าง?
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาได้ โดยการรักษาหลักจะเป็นการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการของโรค เช่น
- อาการสั่น
- อาการเคลื่อนไหวช้า
- อาการแข็งเกร็ง
- การทรงตัวผิดปกติ
- อาการเดินติดก้าวไม่ออก
ซึ่งเมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นจะมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ มีช่วงเวลาที่ตอบสนองต่อยาลดลง และมีระยะเวลาที่อาการดีลดลง หรือมีอาการหมดฤทธิ์ยาก่อนมื้อยาถัดไป มีอาการยุกยิกหรืออาการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะตอบสนองต่อยามากกว่าปกติหลังมื้อยา
แนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)
"อาการของผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละวัน แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยบันทึกอาการและการรับประทานยาอย่างละเอียด ซึ่งการเขียนบันทึกข้อมูลลงกระดาษไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลเท่าไรนัก"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.พัทธมน ปัญญาแก้ว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือกับทีมจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชัน PDPlus เพื่อตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอย่างครอบคลุม
"เป้าหมายในการรักษาโรคพาร์กินสันไม่ใช่เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คือการทำให้อาการของผู้ป่วยไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ก็มีเป้าหมายเดียวกัน ผู้ป่วยสามารถบันทึกอาการได้ทันที มีระบบเตือนการทานยา มีเกมที่เป็นแบบทดสอบประเมินการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตและเข้าใจอาการตัวเองมากขึ้นว่าอยู่ในระดับใด รวมถึงมีระบบรายงานผลวิเคราะห์ข้อมูลอาการผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อให้แพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดและปรับยาตามอาการได้ง่ายขึ้น" ผศ.พญ. พัทธมน กล่าว
แอปพลิเคชัน PDPlus เริ่มนำร่องใช้งานในกลุ่มผู้ป่วยของทางศูนย์ฯ แล้ว และได้เสียงตอบรับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้บันทึกอาการและทำแบบทดสอบประเมินอาการ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
แอปพลิเคชัน PDPlus เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มใดบ้าง?
ผศ.(พิเศษ)ดร.พญ.อรอนงค์ กล่าวเสริมว่าแอปพลิเคชัน PDPlus เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และกลุ่มผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ต้องการทำแบบทดสอบประเมินการเคลื่อนไหว เช่น
- กลุ่มผู้ป่วยพาร์กินโซนิซึ่ม
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ
- โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
- โรคคอบิดเกร็ง เป็นต้น
และไม่จำเพาะว่าต้องเป็นผู้ป่วยของศูนย์ฯ เท่านั้น
แอปพลิเคชัน PDPlus ทำอะไรได้บ้าง
แอปพลิเคชัน PDPlus ประกอบด้วย 3 ฟังก์ชันหลักด้วยกัน คือ
1. บันทึกอาการผู้ป่วยแบบ real time พร้อมสรุปอาการรายวันให้ผู้ป่วยทราบอาการของตนเองในแต่ละวัน
ผู้ป่วยสามารถกดเลือกอาการตามจริงจากตัวเลือก "ปกติ แย่ ยุกยิก" และถ้าแย่ ลักษณะอาการเป็นแบบใด เช่น อาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า ก้าวขาไม่ออก แข็ง เป็นต้น ต่อจากนั้นก็สามารถระบุความรุนแรงของอาการว่า "พอทำกิจกรรมได้" หรือ "รบกวนชีวิต" และเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ก็ให้กดเลือกอาการตามจริง นอกจากนี้ ยังมีการสรุปผลอาการในแต่ละวันให้ผู้ป่วยทราบว่า อาการดี หรือ อาการแย่
2. รับประทานยาถูกต้อง ตรงเวลา ด้วยระบบเตือนการรับประทานยา
ระบบในแอปพลิเคชันจะช่วยเตือนว่าผู้ป่วยต้องรับประทานยากี่ตัว ปริมาณเท่าไร ยามื้อถัดไปคือกี่โมง ระบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ลืมรับประทานยาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางรายจำเป็นจะต้องรับประงทานยาถี่ ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือรับประทานยาครั้งละหลายตัว บางรายมีทั้งยารับประทาน ยาแปะ
เมื่อรับประทานยาแล้ว ระบบก็ให้กดบันทึกว่า "รับประทานยาไปแล้ว" เพื่อให้แพทย์รู้ว่าผู้ป่วยรับประทานยาตรงเวลาหรือไม่ และผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยาออกฤทธิ์ช้า หรือหมดฤทธิ์เร็วก่อนยามื้อถัดไป หรือมีอาการยุกยิกหลังรับประทานยา หากอาการไม่ดีทั้งๆ ที่รับประทายยาตรงเวลา แพทย์จะได้ปรับยาให้ตรงกับผู้ป่วย
3. เกมแบบทดสอบการเคลื่อนไหวสำหรับประเมินการเคลื่อนไหว
เกมหรือแบบทดสอบในแอปพลิเคชันไม่เพียงช่วยประเมินการเคลื่อนไหว แยกอาการผู้ป่วยพาร์กินสันกับคนปกติเท่านั้น แต่ยังใช้ประเมินอาการของผู้ป่วยในแต่ละช่วงว่าอาการดีหรือไม่ดี
เกมและแบบทดสอบใช้สื่อเสียงและสีเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้สูงอายุ ให้อยากเล่นและ รู้สึกสนุกที่เล่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างละเอียด
เกมมีทั้งการทดสอบการเคลื่อนไหวและการใช้ความคิดในกิจกรรมเดียว ผู้ป่วยในกลุ่มพาร์กินสัน นอกจากจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีการคิดการตัดสินใจและความจำถดถอยด้วย ดังนั้น การให้ผู้ป่วยทำสองอย่างพร้อมกัน หรือทำสลับไปมา ก็จะช่วยให้เปรียบเทียบอาการได้ว่าผู้ป่วยทำได้ดีขึ้นหรือไม่ และการแสดงผลมีความถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือมากกว่าการให้ผู้ป่วยทดสอบการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างเกมแบบทดสอบ
- Finger tapping test เคาะนิ้ว มีทั้งการเคาะนิ้วเดียว เคาะสลับนิ้ว เคาะนิ้วตามสัญญาณไฟเขียวไฟแดง ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและใช้ความคิดไปพร้อมๆ กัน
- Drawing Number test ลากเส้นตัวเลขตามรอยประ ปกติผู้ป่วยพาร์กินสันจะลากเส้นได้ไม่สวยเท่าคนปกติ ในส่วนนี้จะนำระยะห่างของการลากเส้นกับเส้นประ มาใช้ประเมินการเคลื่อนไหวด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ
- Pinch to size ขยับนิ้วย่อขยายภาพวัตถุตามคำสั่งสลับไปมา
- Selfie in 8 emotions ให้ผู้ป่วยถ่ายเซลฟี่โดยแสดงออกทางสีหน้า 8 อารมณ์
- Video Selfie ให้ผู้ป่วยอัดวิดีโอตัวเองและแสดงออกทางสีหน้าตามคำสั่ง เช่น เฉยเมย หลับตา ยักคิ้ว ยิ้ม และนับเลข ใช้ในการติดตามอาการและเปรียบเทียบอาการ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีการแสดงออกทางสีหน้าลดลง การแสดงออกทางสีหน้าในแต่ละแบบของผู้ป่วยจึงแทบไม่ต่างกัน
- Voice recording ประเมินเสียงพูด เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสัน มีเสียงพูดเบา แบบทดสอบนี้จะให้ออกเสียงตามคำสั่งและนำมาวิเคราะห์เพื่อดูลักษณะข้อมูลเสียงผู้ป่วยในช่วงอาการต่าง ๆ (speech analysis)
แผนพัฒนา PDPlus เวอร์ชันอนาคต
ผศ.พญ. พัทธมน และผศ.(พิเศษ)ดร.พญ.อรอนงค์ กล่าวถึงแผนพัฒนาแอปพลิเคชัน PDPlus ติดตามอาการผู้ป่วยพาร์กินสันในอนาคตว่าจะเพิ่มฟีเจอร์ให้ผู้ป่วยสามารถรีเช็กอาการของตัวเองได้ทันทีเมื่อผู้ป่วยกดบันทึกอาการ ระบบจะเชื่อมต่อให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบวัดประเมินอาการโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการสั่น ก็กดบันทึกและทำแบบทดสอบว่ามีอาการสั่นจริงหรือไม่ หรือแบบนี้ไม่เรียกว่าอาการสั่น ในส่วนของแบบทดสอบประเมินการเคลื่อนไหวก็จะเพิ่มเติมแบบทดสอบสำหรับวัดประเมินกลุ่มอาการอื่น ๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย หรือปัญหาการนอน การทรงตัวและการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
"เราอยากให้มีการใช้แอปพลิเคชันนี้ในวงกว้างมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่อยากขยายไปจนถึงกลุ่มคนปกติ เพราะการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไม่ได้มีประโยชน์เพียงติดตามอาการ แต่ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นฐานข้อมูลใหญ่ระดับ Big data เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคในอนาคตว่า ลักษณะอาการแบบนี้ จัดเป็นกลุ่มคนปกติ หรือกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่น รวมไปถึงการพยากรณ์โรคในระยะเริ่มต้นหรือใช้ในการพัฒนาการรักษาใหม่ๆ ในอนาคต" ผศ.(พิเศษ)ดร.พญ.อรอนงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ดาวน์โหลดและสมัครใช้งานแอปพลิเคชัน PDPlus
ได้ทั้งทาง App Store (https://apps.apple.com/do/app/pdplus-movement-diary/id1580906294)
และ Play Store (https://play.google.com/store/apps/details?id=swoft.pdplus)
หากมีข้อสงสัยในการใช้งานแอปพลิเคชัน สามารถสอบถามได้ทางแอปพลิเคชัน Official Line ID: ChulaPD
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit