จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าสองหมื่นคนต่อปี โดยกว่าครึ่งเป็นเด็กและเยาวชน โจทย์ท้าทายจะทำอย่างไรที่จะให้ภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้เห็นโอกาสมาทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้คนไทยมีจิตสำนึก และมีวัฒนธรรมใหม่ในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และมีการผลักดันสู่ระดับนโยบาย เพื่อลดสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกับเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ Road Safety Social Lab โครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน สุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย ขึ้นที่ สสส. ระดมสมองภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน และ มูลนิธิเมา ไม่ขับ เพื่อร่วมหาทางออกแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและลดเสียชีวิต ปิ๊งแว้บแนวคิด จัดตั้ง Social Enterprise :SE "เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม" เชื่อมทุกภาคี สื่อสารสร้างพลัง ทำต่อเนื่อง มั่นใจคนไทยเปลี่ยนได้
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand Movement กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ชวนภาคีเครือข่ายสสส.ที่ขับเคลื่อนเรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมระดมสมอง ในห้องปฏิบัติการทางสังคม Road Safety Social Lab ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อกำหนด แนวยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เช่น การยกระดับสภาพแวดล้อม กลไกเฝ้าระวัง การสร้างจิตสำนึก การใช้พลังสังคม (Social Sanction) และการปลูกฝังความรู้สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยตั้งแต่ ยังเป็นเด็ก โดยหนึ่งในกลไกสนับสนุนแนวยุทธศาสตร์ให้เกิดขึ้นได้จริง คือ การมีเจ้าภาพ หรือหน่วยงานกลาง ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน นั่นคือการตั้ง "เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม" ซึ่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา เราได้การจัดเวทีสาธารณะ ชวนผู้ที่มีส่วนได้เสีย หน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ มาร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ และแนวทางแก้ไขปัญหา และแนวทางในการผลักดัน เป็นหู เป็นตา ฯ ให้เกิดขึ้น
"การตั้ง เป็นหู เป็นตาฯ ถือเป็นความท้าทาย เราจะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยในเร็วๆ นี้ จะตั้งเป็นบริษัทจำกัดก่อน หลังจากนั้นค่อยจดเป็น Social Enterprise ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้นำและผู้รู้อีกมากมาย ที่ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนน มาทำงานร่วมกัน ซึ่งการดำเนินงานภายใต้ร่วมมือกันหลายภาคส่วนนั้นเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำได้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จะกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม จึงต้องสร้างการตระหนักรู้ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสังคม " ดร.อุดม กล่าว
ทั้งนี้แนวคิดในการจัดตั้ง Social Enterprise ดังกล่าว เป็นผลพวงจากการประชุม ระดมสมองมาอย่างต่อเนื่อง ของกลุ่มผู้ก่อการดี Road Safety ที่ประกอบด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand Movement คุณอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ อดีตรองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร องค์กรสนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุจราจร นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธาน สอจร. คุณสมเกียรติ โมราลาย นักวิชาการอิสระ/ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐ โดยล่าสุด ยังชวนภาคเอกชน เช่น วิริยะประกันภัย บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บริษัท เอ พี ฮอนด้า จำกัด คุณนพดล สันติภากรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด คุณทัศนีย์ ศิลปบุตร ผู้แทน Safer Roads Foundation ประจำประเทศไทยและผู้บริหาร สสส. มาร่วมให้ข้อคิดเห็น และยังได้เข้าพบอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ซึ่งสนับสนุนให้มีการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ เพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก และ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่หลายฝ่ายมาร่วมคิด ซึ่งจากสถานการณ์ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการใหม่ๆ การที่มี เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม จะเป็นจุดคานงัดสำคัญ ที่เชื่อว่า หากร่วมกันทำต่อเนื่อง ดึงพลังสังคมได้จริง จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงได้ และน่าจะเป็น Social Enterprise แรกๆ ที่ สสส.เข้ามาร่วมงานในรูปแบบนี้
นับเป็นความหวังของผู้ที่ขับเคลื่อน และรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งขับเคลื่อนประเด็นอุบัติเหตุมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ทำมูลนิธิเมาไม่ขับมา 30 ปี คนไทยรู้เรื่องเมาไม่ขับเป็นอย่างดี แต่บางส่วนไม่เปลี่ยนนิสัย ถ้ามูลนิธิยังคงทำแบบเดิมคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะคนทำผิดจะรู้วิธีการเอาตัวรอดจากการทำผิดกฎหมาย และต่างคิดว่าเป็นความซวย จึงถูกจับ แต่พอมีโซเชียลมีเดีย มีกล้องติดรถช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้มาก เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนต้องเริ่มที่ตัวเรา ต้องช่วยกันมาเป็นหู เป็นตา
ด้านคุณอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ อดีตรองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานมากที่ทำเรื่องอุบัติเหตุ แต่ไม่มีการต่อยอด เชื่อมโยงกัน ต่างคนต่างทำ ผลลัพธ์ก็ไม่มีอะไรต่างจากเดิม วันนี้เราจึงมานั่งคิดกันว่าน่าจะมี SE ที่จัดตั้งมาเป็นตัวกลาง ดูแล เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์จริง เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้เทคโนโลยีและพลังสังคมช่วยขับเคลื่อน
และในเวทีนี้ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธาน สอจร. ก็ได้หยิบยก "ภูเก็ตโมเดล ลดอุบัติเหตุ สู่เมืองปลอดภัย" มาเล่าให้ฟังว่าปัจจัยสำเร็จ คือ เรื่อง 5 ส. โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวหลักในการบ่งชี้ปัญหา ใช้หลักการทำงานร่วมกัน และทำให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมในการลดการสูญเสีย สร้างความไว้วางใจ ทำให้เกิดความผูกพันของคนที่ทำงานร่วมกัน สิ่งนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งในภาพรวม ภูเก็ตโมเดลฯ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีสถิติลดลงอย่างชัดเจน ก่อนปี 2550 อัตราผู้เสียชีวิต 300 กว่าราย ปี 2563 เหลือเพียง 130 กว่าราย และ ปี 2564 ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เหลือเพียง 90 กว่าราย เป้าหมายต่อไปต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือต่ำกว่า 50 ราย ภายในปี 2570
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า "เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม" มีความจำเป็น อุบัติเหตุเป็นเรื่องของทุกคนและป้องกันได้ โดยทุกคนต้องช่วยกัน เป็นหู เป็นตา เพื่อไปสู่เป้าหมายลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญยังทำให้ครอบครัว และสังคมโดยรวม อยู่กันอย่างปลอดภัย และมีความสุข ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ได้ทาง Website และ Facebook Page: Imagine Thailand Movement
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit