มรภ.สงขลา สุดปลื้ม ผลประเมินจัดลำดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก คว้าอันดับ 2 กลุ่มราชภัฏ (ภาคใต้) อันดับ 9 กลุ่มราชภัฏ (ประเทศไทย) อันดับ 38 ของประเทศ และอันดับที่ 892 ของโลก
อาจารย์พิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิทยาเขต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตามที่ มรภ.สงขลา มีนโยบายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลก จึงได้สมัครเข้าร่วมการประเมินการจัดลำดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ประจำปี 2564 (UI GREENMETRIC WORLD UNIVERSITY RANKING 2021) จุดมุ่งหมายเพื่อมีส่วนร่วมในวงวิชาการที่ว่าด้วยความยั่งยืนในการศึกษาและการสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำไปสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินตนเองด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก ตลอดจนสื่อสารให้รัฐบาล หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสังคม ได้ทราบถึงโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืนในมหาวิทยาลัย
จากผลการจัดอันดับปรากฏว่า มรภ.สงขลา ได้รับคะแนนประเมิน 2,675 คะแนน เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มราชภัฏ (ภาคใต้) และมีคะแนนเป็นอันดับ 9 กลุ่มราชภัฏ (ประเทศไทย) อันดับ 38 ของประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 892 ของโลก โดยในการประเมินจะพิจารณาจากพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนพื้นที่ของวิทยาเขตสตูล ร่วมด้วย นอกจากนั้น จะต้องมีการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้ดำเนินงานตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว มาตั้งแต่สมัย ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ต่อมาเมื่อ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ เข้ารับตำแหน่งอธิการบดี มีแนวคิดให้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในแผนและนำเข้าสู่สภาฯ หลังจากนั้นนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา มรภ.สงขลา จึงได้จัดเตรียมข้อมูลเพื่อให้มีความพร้อมต่อการสมัครเข้าร่วมการประเมินมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก จนนำมาสู่การได้รับการจัดอันดับที่น่าพอใจในครั้งนี้
"ความสำเร็จในการดำเนินงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากท่านอธิการบดี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน และมอบนโยบายให้ผมและคณะทำงาน ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนนำมาสู่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก อันดับ 2 กลุ่มราชภัฏ (ภาคใต้) และต้องขอขอบคุณนักวิจัยที่ทำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทุกท่าน ตลอดจนคณะ ศูนย์ สำนัก ที่ร่วมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสีเขียว รวมถึงอาจารย์และบุคลากรทุกคนที่ร่วมขับเคลื่อนผลักดัน จนทำให้ มรภ.สงขลา ได้รับผลิตผลรางวัลอันน่าภาคภูมิใจนี้" รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิทยาเขต มรภ.สงขลา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.สงขลา ผู้ได้รับมอบหมายให้ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว กล่าวว่า การเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก จะช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในระดับภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โลกกำลังเผชิญกับปัญหาในระดับสากล ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น แนวโน้มจำนวนประชากร ภาวะโลกร้อน การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบเกินควร การพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันเพียงอย่างเดียว การขาดแคลนน้ำและอาหาร และความยั่งยืนเราตระหนักว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการความท้าทายเหล่านี้ การจัดอันดับกรีนเมตริกทำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาจะสามารถช่วยสร้างความตระหนัก โดยทำการประเมินและเปรียบเทียบความพยายามด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน งานวิจัยด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยสีเขียวและการขยายบริการเชิงรุกสู่สังคม
ทั้งนี้ การเข้าร่วมในการจัดอันดับยูไอ กรีนเมตริก สร้างเสริมความพยายามที่จะช่วยทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับ โดยให้ความพยายามดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นที่ประจักษ์บนแผนที่โลก การเข้าร่วมในการจัดอันดับยังช่วยให้เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมียอดเข้าชมเพิ่มมากขึ้น มีการอ้างและเชื่อมโยงถึงสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนบนเว็บเพจต่าง ๆ และยังช่วยให้การประสานติดต่อกับสถาบันที่มีความสนใจมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit