องค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย ระดมน้องเหมียว ชวน 'มานุดหยุดกินฉลาม' เปิดตัวโครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks'

01 Apr 2022

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการรณรงค์ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks' ระดมพลังแมว 1 ในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม ของคนไทยและทั่วโลก มาร่วมขับเคลื่อนการปกป้องฉลาม ด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ที่รักและเลี้ยงแมว ผู้รักสัตว์เลี้ยง และคนทั่วไป เลิกบริโภค เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามทั่วโลกกำลังมีจำนวนลดลง จนอาจกระทบความสมดุลของ ท้องทะเล และขอเชิญชวนให้ทุกคนอัพโหลดรูปแมว หรือสร้างสรรค์แมวในแบบของตัวเองที่ www.catsforsharks.com พร้อมติด แฮชแท็ก #CatsForSharks #มานุดจงหยุดกินฉลาม เพื่อบอกต่อเพื่อนและคนในครอบครัวให้ร่วมกันเลิกบริโภคเมนูจากฉลาม

องค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย ระดมน้องเหมียว ชวน 'มานุดหยุดกินฉลาม' เปิดตัวโครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks'

นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กร ได้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา ที่มีแมวเป็นตัวเอกของเรื่อง เล่าให้ 'มานุด' ที่กำลังกิน หูฉลามฟังว่า  หากฉลามที่เป็นผู้คุมระบบนิเวศในทะเลหายไป ปลาและสัตว์ทะเลบางชนิดอาจมีมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้ทะเลเสียสมดุล และอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหลายๆ อย่างที่เป็นอาหารของมนุษย์และน้องแมวอีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks' ใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มี ความใกล้ชิดกับมนุษย์เป็นผู้บอกเล่าเรื่องฉลาม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หลายแบรนด์ นิยมใช้เพื่อเพิ่มพลังในการสื่อสาร แต่นี่คือครั้งแรกที่ 'น้องแมว' จะช่วยบอกเล่าเรื่องเร่งด่วนของ 'ฉลาม' ให้ 'มนุษย์' ทราบ และเร็วๆ นี้ เหล่าน้องแมวจากเพจแมวที่มีชื่อเสียงจะมาช่วยกันบอกต่อ ถึงความสำคัญและสถานภาพที่น่าเป็นห่วงของฉลามไปยังผู้ติดตามผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

จากผลสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยจำนวนมากยังคงมีความต้องการบริโภคหูฉลาม โดยคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% มีแนวโน้มจะบริโภค หูฉลามในอนาคต นอกจากนั้นในการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) จากการทำ ประมงเกินขนาดและการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ส่วนการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามและกระเบนทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค หากฉลามหายไป อาจส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะฉลามมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาความสมดุลของท้องทะเล

"ฉลามยังคงเผชิญภัยคุกคามที่น่าเป็นห่วง การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยังคงมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราจึงหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสังคมอยู่เสมอ เราหวังว่าโครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม' จะสามารถ สื่อสารไปยังกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน และโน้มน้าวผู้ที่บริโภคให้ปฏิเสธเมนูจากฉลามอย่างถาวร เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการปกป้องท้องทะเลเช่นกัน" มร. จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

ฉลาม มีบทบาทสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว พบ ฉลามเสือช่วยทำให้เต่าทะเล และพะยูนหากินตามแนวหญ้าทะเลแบบกระจายตัว เพราะความระแวงฉลามเสือ จึงเป็นการป้องกันแนวหญ้าทะเลบางบริเวณ ไม่ไห้ได้รับความเสียหายมากเกินไป แนวหญ้าทะเลนอกจากจะเป็น แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว ยังเป็นแหล่งดูดซับ และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 35 เท่า ดังนั้น จึงเท่ากับว่าฉลามเสือช่วยชะลอผลกระทบของการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทางอ้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ ฉลามยังเป็นหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหาร หรือสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต ดังนั้นการค้าและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากฉลามที่ไม่ยั่งยืน เช่น ครีบ เนื้อ น้ำมัน รวมถึงการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ กำลังทำให้ประชากรฉลามหลายชนิดทั่วโลก ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

"เราหวังว่าโครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks' จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภค ที่ไม่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ฉลามและกระเบน ที่มีต่อการลดลงของประชากรอย่างน่าเป็นห่วง อันที่จริง เราเริ่มเห็นการสูญพันธุ์ เป็นครั้งแรกของโลกแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงฉลามอย่างน้อย 1 ชนิดที่เคยพบเห็นได้ในน่านน้ำไทย หากเราร่วมกันลดการบริโภค ตั้งแต่บัดนี้  สถานการณ์ต่างๆ อาจยังไม่สายเกินไป " ดร. แอนดี้ คอร์นิช หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าว

นอกเหนือจากโครงการ 'เหมียว ช่วย ฉลาม - Cats for Sharks' องค์กรไวล์ดเอด และ WWF ประเทศไทย เตรียมเผยแพร่ สื่อรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคฉลามอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และจะร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่าย สนับสนุนการมีส่วนร่วม และผลักดันแนวทางการอนุรักษ์ฉลามต่อไป

 

HTML::image(