ผลวิจัยใหม่ชี้ การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงกว่า 40% ในช่วงโควิด-19 ระบาด

04 Oct 2021

ผลวิจัยใหม่ที่นำเสนอในวันนี้ที่งาน UEG Week Virtual 2021  เผยให้เห็นว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer (CRC)) ลดลงอย่างมากถึง 40% ในปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 

การวิจัยดำเนินการที่โรงพยาบาลหลายแห่งในสเปน โดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากช่วงปีแรกที่โควิด-19 ระบาด กับข้อมูลในปีก่อนหน้า พบว่า ในบรรดาผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,385 รายในช่วงระยะเวลา 2 ปีนั้น เกือบ 2 ใน 3 (868 ราย หรือ 62.7%) ได้รับการวินิจฉัยในปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ 24,860 ครั้ง ขณะที่มีเพียง 517 ราย (37.3%) ที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงโควิดระบาด ซึ่งยังพบด้วยว่าจำนวนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ลดลง 27% เป็น 17,337 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีอายุมากกว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในปีก่อนโควิดระบาด อีกทั้งมีอาการบ่อยกว่า มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า และพบในระยะที่โรคลุกลามมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการงดตรวจคัดกรองและการเลื่อนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่เร่งด่วนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็งน้อยลงจากการตรวจคัดกรอง โดยพบผู้ป่วยเพียง 22 ราย (4.3%) เมื่อเปรียบเทียบกับ 182 ราย (21%) ในปีก่อนเกิดโรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นได้รับการตรวจวินิจฉัยเนื่องจากแสดงอาการ (81.2% ของการวินิจฉัย) เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดการระบาด (69%)

Dr Mar?a Jose Domper Arnal จากแผนกโรคระบบทางเดินอาหารแห่งโรงพยาบาล University Clinic Hospital และสถาบัน Arag?n Health Research Institute (IIS Arag?n) ในเมืองซาราโกซา ประเทศสเปน และผู้วิจัยอาวุโสในทีมวิจัย กล่าวว่า "สิ่งเหล่านี้เป็นข้อค้นพบที่น่ากังวลมากจริง ๆ การที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยในช่วงที่โควิดระบาดนั้นน่าเป็นห่วง ไม่เพียงมีการวินิจฉัยน้อยลง แต่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยมักจะอยู่ในระยะท้ายและมีอาการรุนแรงมากขึ้นแล้ว"

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยด้วยโรคแทรกซ้อนรุนแรง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคระยะสุดท้าย โดยพบอาการเพิ่มขึ้น เช่น ลำไส้ทะลุ ฝี ลำไส้อุดตัน และมีเลือดออก ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

"มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่รักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ความกังวลของเราคือเรากำลังสูญเสียโอกาสในการวินิจฉัยผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกนี้ และจะส่งผลสืบเนื่องต่อผลลัพธ์ทางการพยาบาลที่เกี่ยวกับผู้ป่วยและการรอดชีวิต มีแนวโน้มว่าเราอาจได้เห็นผลร้ายเหล่านี้ตามมาในปีต่อ ๆ ไป"

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม การอ้างอิง หรือต้องการขอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ กรุณาติดต่อ [email protected]