ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว สำหรับนายกสมาคมฟินเทค ประเทศไทย ไม่ผิดโผทุกคนต่างเทคะแนนให้กับ คุณนึก-ชลเดช เขมะรัตนา และ ทีมบอร์ดบริหารสุดแข็งแกร่ง ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในด้าน Fintech ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น คุณท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ที่มีความถนัดเรื่อง Digital Asset คุณมิล-อมฤต ฟรานเซน ที่ทำงานด้าน Insurtech มาหลายปี คุณโย่-ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ที่ปัจจุบันได้คลุกคลีอยู่ในวงการ Lending และสุดท้าย คุณเอก-เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน Crowdfunding โดยทางคุณชลเดช ผู้สวมหมวกนายกสมาคมคนใหม่ล่าสุดนั้น ปัจจุบันเป็นผู้บริหารในบริษัท Wealth Tech ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกยอมรับจากทั้งวงการฟินเทค และแวดวงตลาดทุนในบ้านเรามากที่สุดคนนึง
คุณชลเดช เขมะรัตนา เผยแผนปั้นสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้เป็นศูนย์รวมของผู้มีส่วนได้เสียทุกหน่วยงานเพื่อร่วมกันใช้ฟินเทคพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ โดยผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่ได้มีแค่เฉพาะสตาร์ทอัพอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงธนาคาร บล. บลจ. บริษัทประกัน หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานกำกับดูแล และประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ
ตั้งต้นด้วยการปรับโฉม สร้างความเข้าใจใหม่สู่การเป็น "สมาคมของทุกคน"เราต้องปรับภาพลักษณ์ให้สมาคมเข้าถึงได้ง่าย เป็นสมาคมของทุกคน ทั้งคนไทยและต่างประเทศที่เข้ามาตั้งธุรกิจในประเทศไทย โดยสมาคมฟินเทคประเทศไทยได้เริ่มติดต่อกับสมาคมฟินเทคในต่างประเทศแล้ว ซึ่งเริ่มจากการหาความร่วมมือกับประเทศที่เป็น Global Fintech Hub ก่อน เช่น อังกฤษ จีน สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากนี้ สมาคมฟินเทคยังได้ Rebranding โดยการเปลี่ยนโลโก้ให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเรียกสมาคมภาษาอังกฤษเป็น TFA ย่อมาจาก Thai Fintech Association
ความท้าทาย 52 สัปดาห์แรก แห่งการสร้าง Networking และ Infrastructureความท้าทายแรก คือ ต้องปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งหมดให้สำเร็จโดยไว โดย TFA แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ 52 สัปดาห์แรก และ 52 สัปดาห์หลัง ในส่วนแรกจะเน้นขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งวางโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง การมี Networking ที่ดีจะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านฟินเทคเข้ามาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับระเบียบและกฎเกณฑ์ทางการ เพราะประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยงาน ดังนั้น TFA จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยประสานงานกับผู้ประกอบการฟินเทคและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มการประชุมเป็นประจำทุกเดือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กลต. และสำนักงาน คปภ. เพื่อวางแผนและทำงานร่วมกันในการพัฒนาวงการฟินเทคในประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานที่ TFA อยากผลักดันให้เกิดขึ้นคือ API Exchange โดยการอาสาเป็นเจ้าภาพในการพัฒนา Market Place สำหรับเผยแพร่และแลกเปลี่ยน API เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบริการด้านฟินเทคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องทำงานซ้ำซ้อนกัน ใครทำเรื่องอะไรได้ดีก็ให้ทำออกมาในรูปแบบ API ให้หน่วยงานอื่นสามารถนำไปใช้ต่อได้แล้วค่อยมาแบ่งรายได้หรือจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำเรื่อง Open API ได้ดีอยู่แล้ว TFA จึงสามารถร่วมงานกับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อกำหนดรูปแบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และวาง API Roadmap สำหรับการขยายฐานผู้ใช้งาน API Exchange ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมต่อกับ API Exchange อื่นที่มีอยู่ในต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดตลาดไปยังต่างประเทศได้ และให้ผู้ประกอบการต่างประเทศมาลงทุนทำธุรกิจด้านฟินเทคในประเทศไทยได้เช่นกัน
52 สัปดาห์หลัง ต่อยอดฟินเทคสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเสริมช่องทางความรู้ด้านฟินเทค และดึงความสนใจจาก VC ต่างชาติใน 52 สัปดาห์หลังจะเป็นการต่อยอดจากในส่วนแรก ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ และสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมใช้ Networking ทั้งหมดที่หามาสร้างให้อุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทยสามารถอยู่ได้แบบยั่งยืน ซึ่งการทำให้ยั่งยืนนั้นเราต้องเริ่มตั้งแต่รากฐานก็คือการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Fintech ให้แก่คนในประเทศ แต่ในไทยเรายังขาดช่องทางที่หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องฟินเทคและการเงินการลงทุนทั่วไป หรือหากมีข้อมูลดังกล่าวก็อาจจะไม่ครบถ้วน หรือดูยากเกิน ดังนั้น TFA จึงอยากจะช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจฟินเทคมากขึ้น และรู้ว่าตนเองกำลังจะใช้บริการทางการเงินอะไร มีวิธีการและขั้นตอนรวมไปถึงความเสี่ยงและผลประโยชน์จากการใช้บริการทางการเงินนั้นๆ อย่างไรบ้าง TFA จึงได้มีการวางแผนจัดทำคอร์สด้านการเงินและฟินเทค โดยวิทยากรจะมาจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Fintech ทั้งในและต่างประเทศ โดยกรรมการบริหาร TFA ก็จะเป็นวิทยากรเองด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะมีโควตาสำหรับสมาชิกให้สามารถร่วมเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้เรายังวางแผนจัดทำหลักสูตรและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินทั่วไปและฟินเทค ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเราไปสอนเด็กที่เรียนบริหารฝั่งการเงิน และฝั่งเทคโนโลยีให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และ ฟินเทค เราก็จะได้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจสินค้าทางการเงิน มีภูมิคุ้มกันตัวเองมากขึ้น โดนหลอกได้ยาก รู้จักลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในวงการฟินเทค ประเทศไทยในอนาคตได้
ส่วนการสร้างแรงดึงดูดความสนใจจาก VC ต่างชาตินั้น ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศยังไม่รู้จักฟินเทค ในประเทศไทยมากนัก TFA จึงอยากทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมฟินเทค ประเทศไทยให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ด้วยการจัดงาน Roadshow กับทางต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องเป็นในรูปแบบออนไลน์ไปก่อน โดยงานดังกล่าวจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ของแต่ละประเทศ และเป็นการทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามารู้จักกับสตาร์ทอัพที่เป็นฟินเทคในไทยมากขึ้น นอกจากนี้เราจะมีการจัดทำ Database บริษัทฟินเทค ในประเทศไทยโดยแบ่งตามกลุ่มธุรกิจและรอบการระดมทุน เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพในไทยก่อนด้วย
ตั้งเป้าผลักดันประเทศไทย สู่ Top 5 ฟินเทคฮับ ในเอเชีย ภายใน 2 ปีTFA ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทุกคนด้วยการเป็นศูนย์กลางด้านฟินเทค เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจบริการด้านฟินเทคอย่างถ่องแท้มากขึ้น พร้อมมุ่งให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการฟินเทคได้มีระบบ API ที่มีมาตรฐานให้สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องทำใหม่ขึ้นมาเอง และยังสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็น Talent ด้านการเงิน และฟินเทคโดยเฉพาะ รวมไปถึงการได้เข้าถึงนักลงทุนในระดับต่างประเทศ ผ่านตัวกลางอย่าง TFA โดยเราตั้งเป้าให้ประเทศไทยติดอันดับ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชียภายใน 2 ปี ผ่านแผนกลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยมีผู้ส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการเงินและฟินเทคเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาฟินเทค ประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit