กรมวิทย์ จับมือ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัยสมุนไพรและพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

15 Sep 2021

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช คณบดี คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเภสัชกรหญิงศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านระบบออนไลน์

กรมวิทย์ จับมือ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัยสมุนไพรและพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของพืชสมุนไพรและพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ของพืชสมุนไพร ทำให้แนวโน้มความต้องการของตลาดโลกนั้นมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีการศึกษาที่หลากหลายที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้บริโภค และผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพืชสมุนไพรทำให้นำไปสู่การศึกษาและพัฒนาพืชสมุนไพรให้ได้มาซึ่งสารสำคัญ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นยาและการรักษาโรค ดังนั้นสมุนไพรจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ เพื่อพัฒนาทางด้านการแพทย์และเศรษฐกิจของประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านยาและการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานร่วมกัน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานระดับประเทศที่มีภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนางานด้านสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงการวิจัยทางคลินิก โดยมีสถาบันวิจัยสมุนไพร เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการด้านสมุนไพร พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภาครัฐและเอกชน และยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย 15 แห่ง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและดำเนินงานควบคู่กันไป ส่งผลให้เกิดการพัฒนาครอบคลุมทั้งประเทศ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีบทบาทในการพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพร โดยเฉพาะพืชเสพติดอย่างกัญชา มีการใช้เทคโนโลยีทางพันธุกรรมในการจำแนกและพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ร่วมกับเทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอก หางเสือ ตะนาวศรีก้านขาว และตะนาวศรีก้านแดง เป็นต้น" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

HTML::image(