พช.เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณงาน และเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

16 Jun 2021

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 นางสาวอาภร  ดวงกันยา พัฒนาการอำเภอเปือยน้อย พร้อมด้วย นายเนรมิต  มูลวงศ์ ผู้อำนวยการกองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม นางสาวนกยูง อนุสุเรนทร์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ นายธนกร ตราครบุรี นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ และนายสุวิทย์ มะโนวรรณ์  ผู้ใหญ่บ้านหนองนกเขียน หมู่ที่ 5 ตำบลขามป้อม ลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณงาน และตรวจเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมาย นายวิรัตน์ พระนา เจ้าของแปลง พื้นที่ขนาด 3 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ณ บ้านหนองนกเขียน หมู่ที่ 5 ตำบลขามป้อม อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น

พช.เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณงาน และเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวอาภร  ดวงกันยา พัฒนาการอำเภอเปือยน้อย เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พช. จำนวน 15 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 8 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 7 แปลง งบประมาณ 1,089,600 บาท โดยอำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีพื้นที่ 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน  โดยได้มีการลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณงานแปลงของนายวิรัตน์ พระนา ครัวเรือนต้นแบบ ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตามภูมิสังคม และหวังว่าอำเภอเปือยน้อย จะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ในระดับครัวเรือน และชุมชน เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน

โดย นายวิรัตน์ พระนา ครัวเรือนเป้าหมาย บ้านหนองนกเขียน หมู่ที่ 5 ตำบลขามป้อม อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ โคก หนอง นา พช ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยสมัครเข้าร่วมโครงการขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ตามแบบแปลนมาตรฐานกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1: 2 ดินร่วนปนทราย ตามภูมิสังคม เมื่อดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการเลี้ยงปลานิล และ ปลาตะเพียน จำนวน 5,000 ตัว ในพื้นที่จำนวน 2 บ่อ ปลูกข้าวนาหว่าน ปลูกพืชผัก เช่น ข้าวโพด ตะไคร้ ข่า  มะเขือ พริก ถั่วฟักยาว ผักหวานฯลฯ  บนคันนาทองคำ และปลูกต้นกล้วย มะละกอ ต้นดอกแค ต้นไผ่  ไม้ยืนต้น เช่น ยางนา ประดู่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรด้วยรูปแบบ โคก หนอง นา พช.

อีกทั้ง นายวิรัตน์ พระนา เจ้าของแปลง ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการฯ และสนับสนุนช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำให้ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ ชุมชนมีความรักความสามัคคี เอื้ออาทรแบ่งปัน เกิดความเข้มแข็ง มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ในสภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประชาชนในหมู่บ้านยังมีอาหารบริโภคอย่างสมบูรณ์ และมีความปลอดภัย ตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และจะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และขับเคลื่อนพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ โคก หนอง นา พช. ให้ประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ให้ได้ หลังจากนี้ 3 เดือน คาดว่าคงมีผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้ฯ อย่างแน่นอน และพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตามหลักทฤษฎีใหม่ ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้ ผ่านกลไกการสร้างความสามัคคีโดยการใช้จิตอาสาในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับตำบล ระดับพื้นที่ต้นแบบฯ ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตลอดชีวิตทุกช่วงวัยก่อให้เกิดผลดีต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

พช.เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณงาน และเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง