STGT ได้รับการประเมินอันดับเครดิตองค์กรแบบ Stand-Alone Rating ที่ระดับ 'A' ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจและฐานะการเงินแข็งแกร่ง

21 Jun 2021

บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ปลื้มได้รับการประเมินอันดับเครดิตองค์กรโดยลำพัง (Stand-Alone Rating) ที่ระดับ A จากทริสเรทติ้ง ดีกว่าบริษัทแม่ที่ได้รับการประเมินอันดับเครดิตที่ A- ตอกย้ำความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงาน เงินทุนหมุนเวียนและฐานะการเงินที่มั่นคง ส่วนภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตขยายตัว คาดดีมานด์ในปีนี้อยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 15% นับจากปี 2561

STGT ได้รับการประเมินอันดับเครดิตองค์กรแบบ Stand-Alone Rating ที่ระดับ 'A'  ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจและฐานะการเงินแข็งแกร่ง

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำในประเทศไทย ได้ประกาศผลการประเมินอันดับเครดิตของบริษัทฯ ที่ระดับ 'A' จากปัจจุบันที่บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ซึ่งเป็นบริษัทแม่และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STGT ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ A-

ทั้งนี้ การที่ STGT ได้รับการประเมินอันดับเครดิตที่ระดับ A จากปกติที่การประเมินอันดับเครดิตจะไม่สูงกว่าบริษัทแม่ เนื่องจากทริสเรทติ้งได้ใช้วิธีการประเมินอันดับเครดิตโดยลำพัง หรือ Stand-Alone Credit Profile (Stand-Alone Rating) โดยการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวเนื่องจากบริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนหมุนเวียนและฐานะทางการเงินที่มั่นคง หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้ 30,405 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 14,401 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่ ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 ยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 15,433.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 10,051.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,245% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 74% สูงกว่าปี 2563 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 55.3% นอกจากนี้ยังเป็นตอกย้ำศักยภาพของบริษัทฯ ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ของโลกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยวางแผนระยาวขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นภายในปี 2569 จากปีนี้ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ล้านชิ้น

ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางยังแข็งแกร่ง โดย Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 420,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% นับจากปี 2561 ที่มีปริมาณความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกประมาณ 212,000 ล้านชิ้น โดยเฉพาะการใช้งานทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และคาดว่าภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางจะอยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2565