มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และ เทศบาลเมืองพะเยา จัดการประชุม พะเยา Learning City ความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตคนพะเยาและแนวทางการสมัครสมาชิก UNESCO นำโดย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา นายอัครา พรหมเผ่า นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา นางสุมิตรา กัณฑมิตร และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือแนวทางการสมัครสมาชิกเข้าสู่ UNESCO รวมถึงการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา ณ โรงแรม M2 Hotel Waterside จังหวัดพะเยา
รองศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงบทบาทและหลักการของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ทำงานร่วมกับชุมชน ตามปณิธานที่ว่า "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน" โดยเราเป็นมหาวิทยาลัยจัดอยู่ในกลุ่มรับใช้สังคม (Area Based University) มีการร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และเทศบาลเมืองพะเยา พัฒนาจังหวัดพะเยาตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยกับจังหวัดพะเยาจนสำเร็จ ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ตั้งเป้าหมายให้จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (พะเยา Learning City) เป็นเมืองแห่งภูมิปัญญา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม เราจะนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมที่มีการเติบโตและมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น การขึ้นทะเบียน UNESCO จะเป็นผลดีที่สามารถทำให้เกิดการรู้จักและจดจำของคนในประเทศและทั่วโลกได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการ Learning City ได้กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการจดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสานใจฮักและกลุ่มรักขนม อีกทั้งได้สร้างเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Route) ประกอบด้วยแหล่งเรียนรู้ ๑๑ แห่ง คือ ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก บ้านรักขนม วัดเมืองชุม ศูนย์พัฒนาอาชีพและส่งเสริมผู้สูงอายุ อุทยานวิทยาศาสตร์ริมกว๊านพะเยา บ้านดินคำปู้จู้ โรงเรียนเทศบาล ๑ โรงเรียนเทศบาล ๔ สวนนนดา บ้านสวนจานใบไม้ศิริสุข และวัดบ้านต๊ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการสถาบันและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีพ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา การดำเนินงานจะเป็นการสร้างการรับรู้ การสร้างเครือข่าย และลงพื้นที่เพื่อนำร่องมุ่งสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ แต่ในปีพ.ศ. ๒๕๖๔- ๒๕๖๕ เป็นการยกระดับการดำเนินงานเครือข่ายความร่วมมือ และพัฒนาระบบให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการเข้าสู่ UNESCO โดยการดำเนินงานจะส่งเสริมการเรียนรู้ในที่ทำงาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ Creative City และ Smart City รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในมิติต่างๆ ต่อไป
ในการประชุมหารือแนวทางการสมัครสมาชิกเข้าสู่ UNESCO ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิจาก TK Park และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ได้มาให้คำแนะนำในการนำเมืองพะเยาเข้าเป็นเมืองแห่งเรียนรู้ของ UNESCO ทั้งนี้โครงการ พะเยา Learning City ได้รับทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)