วันจันทร์ที่ 5 กรกฏาคม 2564 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์บริการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมี นางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเป็นผู้แทนลงนาม ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ และโฆษก อว. ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายที่ให้ความสำคัญคือการทำให้ภาพกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงแห่งการพัฒนา สร้างโอกาสให้กับประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน รวดเร็ว เป็น Transformative Demand Pull สามารถทำงานจริงจากความต้องการของประเทศและภาคธุรกิจ หากจะกล่าวถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วยวิสาหกิจขนาดใหญ่ และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ที่เรียกกันในนามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละกว่า 99.8 (ข้อมูลจากปี 2563) ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยจะเห็นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงเห็นควรพัฒนาศักยภาพ SMEs ของไทยเพื่อให้มีแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจโดยการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมและตอบโจทย์ความต้องการของภาค SMEs อย่างแท้จริง
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะเป็นต้นแบบในการนำงานบริการวิทยาศาสตร์และวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามที่ตกลงร่วมกัน มาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ประกอบการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนดไว้ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากล
นางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่าความร่วมมือฯครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยการนำงานบริการและวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนากระบวนการผลิตและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนงานและโครงการร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และภูมิภาค สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความกระชับและคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา และวิทยาลัยชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อน SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ วศ. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายในประเทศ ตลอดจนมีการให้บริการตรวจสอบและรับรองทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก