มูลค่าการส่งออกเดือนมิถุนายน 2021 ขยายตัวถึง 43.8%YOY นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี และหากหักทองคำการส่งออกจะขยายตัว 43.4% YOY ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.5% YOY และหากไม่รวมทองคำการส่งออกจะเติบโตถึง 22.4% YOY
ด้านการส่งออกรายสินค้าพบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญทุกประเภทมีการขยายตัว โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกขยายตัวทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะ อินเดีย, กลุ่มอาเซียน 5, กลุ่มสหภาพยุโรป 15, จีน และสหรัฐฯ
ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนมิถุนายน 2021 ขยายตัว 53.8%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (77.7%YOY) ที่ขยายตัวจากทั้งฐานต่ำและราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน, สินค้าทุน (28.5%YOY), สินค้าอุปโภคบริโภค (17.9%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (98.9%YOY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 72.9%YOY แต่หากหักทองคำจะเหลือขยายตัวที่ 69.4%YOY ทั้งนี้ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 26.2%YOY ทำให้ดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกเกินดุลที่ 2,439.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกเดือนมิถุนายน 2021 ขยายตัวสูงตามการค้าโลกที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องและปัจจัยฐานต่ำ สอดคล้องกับตัวเลขส่งออกของหลายประเทศทั่วโลก โดยจากรูปที่ 3 ขวามือ จะเห็นได้ว่านอกจากปัจจัยฐานต่ำแล้ว การส่งออกไทยก็ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากระดับมูลค่าส่งออกที่อยู่สูงกว่าระดับของปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนจะมีการระบาดของ COVID-19 และหากพิจารณาการเติบโตแบบเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาลก็พบว่า การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.4%MoM_sa ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางการค้าโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าส่งออกของหลายประเทศส่งออกสำคัญของโลกล้วนมีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงเดือนมิถุนายน
ในระยะต่อไป การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบการระบาดในประเทศอาเซียน และปัญหา Supply Disruption ที่อาจเกิดขึ้น โดยแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ global pmi export orders ก็ยังอยู่ในระดับเกิน 50 (รูปที่ 4 ซ้ายบน) สะท้อนว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การระบาดที่กลับมาอีกครั้งได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนามากกว่า เนื่องจากมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่ไม่สูงนัก สะท้อนจาก Manufacturing PMI ของประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ของประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มลดลง
จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการระบาดในอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกไทยจากอุปสงค์ที่ลดลงหรือปัญหา supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของไทยเองก็มีความเสี่ยงด้าน supply disruption ที่เกิดจากการปิดโรงงาน โดยเท่าที่ EIC ได้ติดตามสถานการณ์พบว่ามีการปิดโรงงานหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการปิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวม แต่หากการระบาดส่งผลทำให้โรงงานต้องปิดตัวมากหรือนานขึ้นก็จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการผลิตเพื่อส่งออกในระยะข้างหน้า
ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่อง โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ได้ปรับตัวแย่ลงอีกในช่วงหลังจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ทางตอนใต้ของจีนในเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งถึงแม้ว่าจะควบคุมการระบาดได้แล้วแต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหารจัดการสินค้าของท่าเรือเหยียนเทียนและท่าเรือกว่างโจว สะท้อนจากราคาระวางเรือ (Freight) และระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปได้ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น โทรศัพท์มือถือ, เครื่องเกมส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น โดยปัญหาดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อภาคการส่งออกของไทยและโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้
บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/7705
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit