อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คว้ารางวัลบทความทางวิชาการดีเด่น จากเวที Joseph Stiglitz Essay Award ประจำปี 2020 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
จากการประกาศผลการคัดเลือกบทความดีเด่นทางด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลกเวทีJoseph Stiglitz Essay Award ประจำปี 2020 ปรากฏว่า อาจารย์ ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
โอกาสนี้ อาจารย์ ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า รางวัล Joseph Stigliz Essay Award เป็นรางวัลที่ให้กับบทความวิชาการด้านความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระดับมหภาค เพื่อกระตุ้นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ อันเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อเป็นเกียรติกับ ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เมื่อปี 2001 และประธานสมาคม IEA ระหว่างปี 2011 ถึง 2014 ด้วย โดยการประกวดครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Stiglitz Essay Prize winners-Graduate Category รางวัลที่ 1 ได้แก่ Nicolas De Laubier-Longuet Marx รางวัลที่ 2 ได้แก่ Ahmed Abdut Mumin และรางวัลที่ 3 ได้แก่ Wannaphong Durongkavero และ Stieglitz Essay Prize Winners-Undergraduate Category รางวัลที่ 1 ได้แก่ Daksh Walia และรางวัลที่ 2 ได้แก่ Pradnyee Kantak โดยมี ศาสตราจารย์ Dani Rodrikจาก Harvard University และศาสตราจารย์ Kaushik Basuจาก Cornell University เป็นคณะกรรมการตัดสิน
"การประกวดครั้งนี้มีนักวิชาการจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนกว่า 500 ผลงาน ภูมิใจที่เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Stiglitz Essay Prize Award ในครั้งนี้ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ครอบครัว มหาวิทยาลัยรามคำแหง และประเทศไทยด้วย มหาวิทยาลัยรามคำแหงสนับสนุนและส่งเสริมด้านวิชาการอย่างเต็มที่ ขอให้กำลังใจเพื่อนๆอาจารย์ทุกคน ให้มีความมั่นใจในผลงานของตนเอง กล้าที่จะส่งผลงานไปประกวดในเวทีต่างๆ รวมทั้งการขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกด้วย เพื่อพัฒนาและสร้างประสบการณ์ให้กับตนเองต่อไป"
สำหรับ บทความที่ส่งเข้าประกวดชื่อเรื่อง "Inequality is bad, isn't it?" กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ในมิติรายได้ ความมั่งคั่ง และอื่น ๆ) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ทุกคนมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องเลวร้าย เหตุเพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป หรือที่เรียกว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" ผลลัพธ์ประการหนึ่งก็คือ ความเหลื่อมล้ำถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ นำไปสู่การเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างเร่งด่วน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit