วิกฤติ COVID-19 ทำให้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง และผลักดันวิชาชีพแพทย์ สู่การเป็น "แพทย์นักวิจัย" ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างเดียว แต่ต้องมีการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินทุนมหิดลวิทยาจารย์ ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 จากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ China Medical Board ซึ่งได้มอบทุนตั้งต้นมาเพื่อผลิตอาจารย์แพทย์นักวิจัย โดยเริ่มที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนขยายโอกาสไปยังคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งผู้รับทุนมหิดลวิทยาจารย์จะมีโอกาสทำวิจัยที่ต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับทั้งปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิต หรือ Ph.D. - M.D. โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัดว่าจะต้องชดใช้ทุน หรือจำกัดว่าต้องมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการศึกษา ระหว่างการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ กับการศึกษาหลักสูตร Ph.D. - M.D. โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์นี้จะพบว่า การศึกษาหลักสูตร Ph.D. - M.D. โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า แต่ได้บัณฑิตที่มากด้วยคุณภาพ ซึ่งเดิมเปิดให้มีการสมัครทุนสำหรับเข้าศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 3 แต่ในปี 2564 จะเป็นปีแรกที่รับจากผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว เพื่อรองรับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือกจะเข้ารับพระราชทุนมหิดลวิทยาจารย์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยล่าสุดมีผู้ได้รับพระราชทานทุนมหิดลวิทยาจารย์จำนวน 2 ราย คือ นายอนุวัฒน์ แก่นนาคำ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นางสาวจุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ว่า ทางคณะฯ ได้คัดเลือกผู้รับทุนมหิดลวิทยาจารย์จากการพิจารณาคะแนนสอบในวิชาที่กำหนด รวมทั้งจาก Portfolio ที่แสดงผลงานวิจัย และการสัมภาษณ์อย่างเข้มข้น จนทำให้ได้ผู้รับทุนมหิดลวิทยาจารย์ คือ นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้ นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ ต้องเรียนออนไลน์ในชั้นปีที่ 1 จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 จะได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อหารือเรื่องการทำวิจัยในหัวข้อที่สนใจต่อไป ซึ่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายสนับสนุนให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำวิจัย โดยจะให้การสนับสนุนด้านการทำวิจัยแก่ นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ ไปจนสำเร็จการศึกษาหลักสูตร Ph.D. - M.D. เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป โดยเชื่อว่าการเป็น "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" คือความหวังของมวลมนุษยชาติของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน
นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับพระราชทานทุนมหิดลวิทยาจารย์ ปีล่าสุด สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง โดยเมื่อครั้งยังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นจากการประยุกต์ใช้วานิลลาที่ทำอาหาร มาสังเคราะห์เพื่อตรวจวัดสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะ และเชื้อแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าว นศพ.อนุวัฒน์ แก่นนาคำ กล่าวว่าอาจสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ต่อไป สำหรับเหตุผลที่เลือกเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากมีความศรัทธาในฐานะที่ศิริราชเป็นสถาบันต้นแบบผลิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถเป็น "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" ที่ดีได้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าการสร้างงานวิจัยจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สิ่งที่ดีขึ้น และเป็นความหวังให้กับผู้ป่วยได้ต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอดีตผู้รับทุนมหิดลวิทยาจารย์ และอาจารย์ที่ปรึกษาของ นศพ.จุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ ว่า วิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ ในความเป็นจริงมีโจทย์วิจัยปัญหาทางสุขภาพมากมายที่ต้องอาศัยแพทย์ที่ทำงานวิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วย อาทิ การคิดค้นและพัฒนายารักษาโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษา หรือการรักษาด้วยวิธีปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น ประสิทธิภาพยังไม่ดี หรือมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการดูแลรักษาใหม่เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา นศพ.จุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ ได้มีโอกาสร่วมวิจัยกับนักศึกษาปริญญาเอกในห้องปฏิบัติการจนสามารถค้นพบว่า "พรีไบโอติกส์" (Prebiotics) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ มีผลในการเสริมสร้างความแข็งแรงของลำไส้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเมื่อลำไส้แข็งแรง จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคลำไส้อักเสบได้ หวังว่า นศพ.จุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ จะเป็น "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" ที่ดี ที่สามารถนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาหลักสูตร Ph.D. - M.D. โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ และจากการทำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยได้ต่อไปในอนาคต
นศพ.จุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับพระราชทานทุนมหิดลวิทยาจารย์ ปีล่าสุดอีกราย เล่าว่า ตนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในฐานะนักเรียนทุนโอลิมปิกวิชาการ โดยมีความตั้งใจจะตอบแทนสังคมด้วยการเป็น "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" จากพื้นฐานเดิมที่มีความสนใจเป็นอาจารย์ และเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วย ประกอบกับทางโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนได้รู้จักกับการทำวิจัย และได้ต้นแบบ (role model) จาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ที่เป็นทั้งอาจารย์แพทย์ที่ปรึกษา และศิษย์เก่ารุ่นพี่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยในอนาคต นศพ.จุฑารัตน์ อริยะดำรงขวัญ ตั้งใจจะทำงานศึกษาวิจัยต่อยอดด้านพรีไบโอติกส์ต่อไป และจะศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของ Aging หรือ ผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์โลกในปัจจุบันที่นับวันจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ
ติดตามรายละเอียดการรับสมัครโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ ได้ที่ กองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล https://op.mahidol.ac.th/ea/msp/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit