ส่องความหมายอาหารมงคลเทศกาลตรุษจีน สิงคโปร์เทียบเคียงไทย มีอะไรต่างกันบ้าง

05 Feb 2021

วันนี้ การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board - STB) จะพามาทำความรู้จักและเข้าใจเทศกาลตรุษจีนในสิงคโปร์ให้มากขึ้นว่ามีรูปแบบหรือธรรมเนียมเหมือนหรือแตกต่างจากบ้านเราอย่างไร

ส่องความหมายอาหารมงคลเทศกาลตรุษจีน สิงคโปร์เทียบเคียงไทย มีอะไรต่างกันบ้าง

ทุกๆ ปี สิงคโปร์จะจัดเทศกาล 'ปีใหม่จีน' หรือตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรเชื้อสายจีนกว่า 75% ของประเทศ ย่านไชนาทาวน์ จะถูกเนรมิตให้เป็นสีแดง - ทอง กินเวลานานกว่าสองสัปดาห์

วันแรกของเทศกาล ร้านค้า และธุรกิจส่วนใหญ่มักจะปิดทำการ วันนี้จะเป็นวันที่เด็กได้หยุดเรียน โดยใช้โอกาสดังกล่าวเดินทางไปแสดงความเคารพต่อครอบครัวผู้อาวุโส พร้อมกับรับพร และรับอั่งเปา ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมว่า ผู้ใหญ่จะมอบอั่งเปาให้แก่ลูกๆ หลานๆ และผู้ที่อายุน้อยกว่าทุกคน

เมื่อเทศกาลเดินทางมาถึงวันที่ 3 ชาวสิงคโปร์จะเรียกวันนี้ว่าเป็น "วันสุนัขแห่งความภักดี" ความหมายสำคัญก็คือ 'วันพักผ่อน' เพราะฉะนั้น หากจะเยี่ยมญาติ หรือรับผู้มาเยี่ยม ต้องผ่านพ้นวันนี้ไปก่อน เพราะวิญญาณชั่วร้าย อาจอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งทุกที่ และทำร้ายทุกคนที่ออกจากบ้าน ร้านจีนดั้งเดิม จึงหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 3-5 ของเทศกาล เพื่อหลีกหนีวิญญาณชั่วร้าย

และวันที่ 15 จะเป็น "คืนแรก" ของวันพระจันทร์เต็มดวง เป็นงานเลี้ยงอาหารค่ำ รวมญาติกินข้าวด้วยกัน ทั่วบ้านจะประดับด้วยโคมไฟ พร้อมคำอวยพรเช่น อยู่ดีมีสุข อายุยืนยาว ขอให้ร่ำรวยเงินทอง พร้อมกับจัดวางส้ม ที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลประดับไว้ในบนโต๊ะกินข้าว คู่กับ "เกี๊ยว" รูปพระจันทร์เต็มดวงเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความสุขของทุกคนครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ปีนี้ เทศกาลตรุษจีนของสิงคโปร์ จึงจัดขึ้นแบบนิวนอร์มัล เริ่มตั้งแต่การห้ามรวมกลุ่มในครอบครัวเดียวกันเกิน 8 คน เยี่ยมบ้านได้ไม่เกิน 2 บ้านต่อวัน ให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด พร้อมกับต้องพกอุปกรณ์ติดตามตัวไปด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะจับสัญญาณการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ อย่าง Trace Together Token รวมถึงให้ลดการใช้เสียง และขอให้จัดกิจกรรมแจกอั่งเปาด้วยระบบ E-Banking แทนการแจกซองแดงแบบเดิม เพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสให้มากที่สุด

แล้วอาหาร-ขนมมงคลของสิงคโปร์ที่นิยมมอบให้กันในวันตรุษจีน มีอะไรบ้าง และมีอะไรแตกต่างจากเทศกาลตรุษจีนในไทยอย่างไร ก่อนอื่นลองมาดูอาหาร และขนมมงคลในสิงคโปร์กันก่อน

  1. ส้มโอ ความหมายของส้มโอก็คือการนำเอา "โชคลาภ" ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย มาสู่เจ้าของบ้าน ฉะนั้น หลายบ้านจึงมีผลส้มโอประดับไปด้วยพร้อมๆ กัน ชาวสิงคโปร์นิยมนำส้มโอไปมอบ 2 ลูก ด้วยความเชื่อที่ว่า "สิ่งดีๆ จะมาพร้อมกัน"
  2. ส้ม สิงคโปร์นิยมมอบส้มหรือ "จวี๋จื่อ" ให้กัน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยจะใส่ส้มในซองสีแดง หรือกล่องสีแดง - สีทอง เป็นจำนวนคู่ กี่ลูกก็ได้ ใช้มือทั้งสองข้างมอบ ยิ่งแนบไปพร้อมซองอั่งเปายิ่งดี
  3. ขนมทาร์ทสับปะรด (Pineapple Tarts) พายชิ้นเล็ก ไส้สับปะรด เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของขนมหวานสิงคโปร์ ความหมายของสับปะรด ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง "โชคลาภ" กำลังจะมาหาเจ้าบ้าน
  4. ขนมเข่ง" ภาษาจีนเรียกว่า "เหนียนเกา" (Nian gao) ขนมเข่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียว เหนียนนั้นแปลว่า "ปี" ส่วน "เกา" แปลว่าสูงขึ้น หรือสูงส่ง จึงมีหมายความอีกอย่างว่าปีนี้จะดียิ่งขึ้น และเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
  5. เกี๊ยว เป็นอาหารมงคลที่คนจีนตั้งแต่โบราณ ทุกชนชั้น ฐานะ ต่างก็กินเพื่อเสริมความเป็นมงคล เพราะคำว่า เจี่ยวจึ ในภาษาจีนนั้นพ้องกับคำที่แปลว่าสิ่งเก่ากำลังจะผ่านพ้น สิ่งใหม่ๆ กำลังจะเข้ามา
  6. หยี่ซัง (Yu sheng) อาหารมงคลประจำเทศกาลสำหรับชาวสิงคโปร์ โดยหยี่หมายถึงปลา และซัง หมายถึงดิบ ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าอุดมสมบูรณ์ แต่ปลาดิบ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งปลาแซลมอน หรือปลาทูน่า อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ หยี่ซัง นั้นรวบรวมอาหารซึ่งมีชื่อพ้องกับความหมายมงคลหลายอย่าง อาทิ แครอท ที่หมายถึงความสิริมงคล แตงกวา ที่หมายถึงความเจริญก้าวหน้า แมงกะพรุนน้ำมันงา ซึ่งหมายถึงความโชคดี หรือซอสถั่วลิสงบดซึ่งหมายถึงความร่ำรวย วิธีกิน ต้องเริ่มต้นจากการบีบมะนาวใส่ปลาดิบ ค่อยๆ คลุกซอสวัตถุดิบทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยตะเกียบ พร้อมกับกล่าวคำอวยพรไปด้วยระหว่างบรรจงคลุกเคล้า ประเพณีการรับประทานหยี่ซังร่วมกัน มีอีกชื่อว่า"โล เฮ" (lo hei) ซึ่งมีความหมายถึงการโยนเรียกโชค นำสิ่งดีๆ เข้าหาตัว และให้ประสบความสำเร็จตลอดปี
  7. บัวลอยในน้ำเชื่อม ภาษาจีนเรียกว่า "ถ่างหยวน" เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันพร้อมหน้าของคนในครอบครัว ชาวสิงคโปร์จะร่วมโต๊ะกินบัวลอยพร้อมกัน ในวันสุดท้ายของเทศกาล ก่อนบอกลาญาติสนิท
  8. ขนมถ้วยฟู หรือ ฟาเกา (Fa gao) ซึ่งหมายถึงความเจริญ รุ่งเรือง เฟื่องฟู ยิ่งอบแล้วด้านบนของขนมบานออกเท่าใด ยิ่งหมายความว่าคุณจะเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเท่านั้น

ขณะที่เทศกาลตรุษจีนในไทยนั้น มีอาหาร - ขนม มงคลหลายชนิดที่พ้องกับประเพณีในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นส้ม ขนมเข่ง ขนมบัวลอย เกี๊ยว ขนมถ้วยฟู ซึ่งก็เป็นอาหารมงคล เพราะความหมายนั้นพ้องเสียงตรงกัน สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน ไม่ได้ห่างไกลจากชาวสิงคโปร์เท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างอยู่ในอาหารมงคลหลายชนิดเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่

  1. โหงวก้วยกระทงเผือก ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสมหลัก 5 อย่าง ได้แก่ พุทราจีน มะม่วงหิมพานต์ แปะก๊วย เห็ดหอม ไก่และกุ้ง ผัดกับซอส นำมาวางในกระทงเผือก ความหมายก็คือยิ่งกินโหงวก้วย จะยิ่งโชคดีตลอดทั้งปี
  2. ขนมเทียน ความหมายของขนมมงคลชนิดนี้ หมายถึง "ความสว่าง" และความราบรื่น โดยขนมเทียนแบบไทยๆ มีทั้งไส้เค็มนิดๆ หอมพริกไทย และไส้หวาน โดยทั้งสองไส้ ทำจากแป้งข้าวเหนียว ห่อใบตอง กินกันอย่างเพลิดเพลินทั้งครอบครัวตลอดเทศกาลตรุษจีน
  3. ขนมจันอับ ขนม 5 อย่างสำหรับไหว้เจ้า ได้แก่ ขนมถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ฟักเชื่อม และข้าวพอง นำมาจัดเรียงไว้ด้วยกัน ความหมายสำคัญคือยิ่งรับประทาน ยิ่งมีความสุขเพิ่มพูนมากขึ้น จันอับ ยังใช้ในงานแต่งงานด้วย โดยมีความหมายว่าชีวิตรักของคนสองคน จะอยู่คู่กันอย่างสุขสันต์
  4. บะหมี่ - มี่ซั่ว คนไทยเชื้อสายจีนนิยมกินทั้งในวันปีใหม่จีน และวันเกิด มีความหมายถึงอายุยืนยาว วิธีปรุงและวิธีรับประทานคือห้ามตัดเส้นหมี่เด็ดขาด และค่อยๆ ใช้ตะเกียบคีบกินจนหมดเส้น

อาหารและขนมมงคลทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่สอดแทรกผ่านอาหารการกิน และกลายเป็นมรดกตกทอด ที่ทำให้เทศกาลตรุษจีน มีความหมายมากกว่าการเป็น "วันขึ้นปีใหม่" เพียงอย่างเดียว

เกี่ยวกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์
การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board - STB) เป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชั้นนำในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในภาคการบริการของสิงคโปร์ ด้วยการสร้างพันธมิตรกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม และชุมชน ส่งผลให้การท่องเที่ยวสิงคโปร์สร้างให้สิงคโปร์เกิดภูมิทัศน์การท่องเที่ยวที่โดดเด่นและหลากหลาย การท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้เปิดตัวแบรนด์แคมเปญใหม่ ภายใต้แนวคิด "Passion Made Possible: ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่สิงคโปร์" เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสิงคโปร์ในฐานะจุดมุ่งหมายอันมีชีวิตชีวาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ปลดปล่อยและแสดง passion ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stb.gov.sg และ www.visitsingapore.com หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ได้ที่ @STB_sg (https://twitter.com/stb_sg)