บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นายชลัช กังวานธนวัต (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักวิศวกรรมการผลิต เป็นตัวแทนบริษัทฯ มอบแผงโซลาร์เซลล์พร้อมด้วยอุปกรณ์แปลงไฟ ให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยมี ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล (ที่ 5 จากขวา) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ (ที่ 4 จากขวา) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ ดร.ณัฐพันธ์ ถนอมสัตย์ (ที่ 1 จากขวา) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นผู้รับมอบ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสังคมของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ภายใต้ปณิธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม "สรรค์สร้าง เคียงข้าง สังคมไทย"
ที่ผ่านมามิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้มุ่งเน้นสนับสนุนด้านการศึกษาในประเทศไทยแก่เยาวชนไทยหลากหลายโครงการ ได้แก่ หลักสูตรนักศึกษาฝึกงานประจำปี (Talent Internship Program) กับ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และโครงการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีผลการเรียนดีเด่น ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นต้น
นอกจากนี้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่านโครงการต่าง ๆ โดยเริ่มต้นใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่จะช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดตัวรถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ซึ่งเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนโครงการรถยนต์ Electric Vehicle ตามนโยบายของรัฐ อีกทั้งยังได้เปิดตัวระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต "เดนโด ไดร์ฟ เฮ้าส์" (Dendo Drive House) ที่ทำงานร่วมกับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี พร้อมกับเครื่องอัดและจ่ายประจุไฟฟ้า (Bi-Directional Charger) แผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่สำรองกระแสไฟฟ้าในที่พักอาศัย ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากที่พักอาศัยได้เอง เพื่อนำไปใช้ในการชาร์จกระแสไฟฟ้าให้แก่ยานพาหนะ และในทางกลับกันยังสามารถดึงกระแสไฟฟ้าออกจากยานพาหนะ เพื่อนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน และเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในแบบที่ยั่งยืน./