อก. เผย MPI เดือน พ.ย. พลิกฟื้นครั้งแรกในรอบ 19 เดือนขยายตัวร้อยละ 0.35 ชี้จับตาดูสถานการณ์โควิด-19

29 Dec 2020

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัวร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนนับจากเหตุการณ์สงครามการค้าและการระบาดของไวรัสโควิด- 19 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดได้ดีและมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ยังคงจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อก. เผย MPI เดือน พ.ย. พลิกฟื้นครั้งแรกในรอบ 19 เดือนขยายตัวร้อยละ 0.35  ชี้จับตาดูสถานการณ์โควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนนับจากเหตุการณ์สงครามการค้าและการระบาดของไวรัสโควิด- 19 สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดได้ดีและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด ในขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.87 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนเช่นกัน

"เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้รับข่าวดีจากความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต้องควบคุมสถานการณ์ไม่ให้การแผ่ระบาดขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาอีกครั้ง" นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศอันเนื่องมาจากมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งส่งผลในแง่บวกสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวร้อยละ 4.95 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัวเพิ่มจากระดับ 63.19 ในปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 64.80 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 1.77

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรม ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตวิถีใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.00 และอุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.71 ในขณะที่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่เริ่มฟื้นกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.92 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวได้ดีในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่

รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.02 เนื่องจากความต้องการซื้อในกลุ่มสินค้ารถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยหลักจากกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูง และการเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดในช่วงงาน Motor Expor 2020 (2-13 ธ.ค.63) รวมถึงคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่เริ่มมีมากขึ้น

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.95 เนื่องจากโรงกลั่นและบริษัทหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีก่อน แต่ปีนี้มีการซ่อมบำรุงเพียงบางแห่งและเริ่มกลับมาผลิตตามปกติแล้ว
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.71 เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทหน่วยความจำ sensors และ Integrated Circuit เป็นต้น

เภสัชภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.61 จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาน้ำ ยาแคปซูล และยาฉีด เป็นหลัก เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของผู้ผลิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถเพิ่มการผลิตได้สูงขึ้นหลังขยายอาคารเก็บรักษายาตั้งแต่ปลายปีก่อน

มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.29 จากผลิตภัณฑ์มอเตอร์และหม้อแปลงไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการใช้ในช่วงการกักตัวอยู่บ้านของลูกค้าประเทศต่าง ๆ โดยเป็นมอเตอร์ปั๊มน้ำสำหรับสระว่ายน้ำ ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.66 สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าเดือนนี้ผลิตเป็นหม้อแปลงขนาดเล็กกำลังไฟต่ำจึงผลิตได้มากกว่าปกติ

HTML::image(