วันที่ 1 เม.ย. 64 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาวาระและเห็นชอบนโยบายสำคัญ สรุปได้ดังนี้
ด้านก๊าซธรรมชาติ
Regulated Market
การกำหนดหลักเกณฑ์สัญญาซื้อขายก๊าซจาก Old Demand (ลูกค้าอุตสาหกรรม, NGV, IPPs, SPPs, VSPPs และ กฟผ.) ให้ขายก๊าซให้แก่ผู้ใช้ก๊าซตามสัญญาและเงื่อนไขเดิม (Pool Gas) และให้ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center: NCC) สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามวิธีการปัจจุบัน (must run, must take และ merit order)
ด้านโครงสร้างราคาก๊าซให้เป็นไปตาม กบง./กพช. กำหนด ประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซ ค่าบริการสถานี LNG ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซ อัตราค่าผ่านท่อก๊าซ และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซสำหรับ Shipper รายใหม่ ให้คำนวณเฉพาะค่าผ่านท่อบนบกเท่านั้น
Partially regulated market
การดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 กำหนดให้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซฯ เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้และเชื่อมต่อได้ และกำหนดให้ ปตท. แยกธุรกิจท่อเป็น TSO เป็นนิติบุคคล ให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน เมื่อได้ข้อยุติเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. แล้ว รวมถึงให้ ปตท. ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพก๊าซธรรมชาติและแยกก๊าซธรรมชาติ และมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และ ปตท. กำหนดปริมาณการนำเข้า LNG ภายใต้การกำกับของ กกพ. และให้ กกพ. บริหารความสามารถของ LNG Terminal และทบทวนความเหมาะสมของ TPA Regime และ TPA Code
ทั้งนี้ ให้ กกพ. เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาการดำเนินงานให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2
ด้านไฟฟ้า
เห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2564 - 2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้ กกพ. ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า อันเกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม
ทั้งนี้ การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า โดยให้สะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ (Allowed revenue) ซึ่งคิดจากต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าแยกออกจากกัน และคำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเทียบเคียงกับหลักการในการให้บริการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (Ancillary service) เพื่อให้รายรับที่เรียกเก็บจากผู้สร้างความผันผวนต่อระบบไฟฟ้ามีความสมดุลกับค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และกระจายภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยไม่ควรเป็นการเพิ่มภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้บริบทเดิม และโครงสร้างอัตราขายปลีก ได้กำหนดให้มีการอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย โดยให้มีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือบนพื้นฐานระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แทนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ให้ใกล้เคียงกับต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit