อ.ส.ค. ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ ม.เกษตรศาสตร์สานต่อความร่วมมือ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโคนมและนมโคไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมเร่งดันไทยสู่ผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพพรีเมี่ยม ในภูมิภาคอาเซียนและสากล
นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโคนมและนมโคไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรม โดยมีแผนดำเนินการเป็นระยะเวลา 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2569) โดยความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าประเทศไทยสู่ผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพสูง หรือ นมพรีเมี่ยม ในภูมิภาคอาเซียนและสากล ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ อ.ส.ค. ได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2564 สร้างผลงานโดดเด่นหลายเรื่อง โดยระยะเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2549-2554 ความร่วมมือมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและความสามารถในการให้ผลผลิตของโคนมไทย ระยะที่สอง ปี พ.ศ. 2554-2559 เน้นเรื่องการพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนม การพัฒนาการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาและนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในเชิงปฏิบัติเพื่อการพัฒนาโคนมของเกษตรกร ระยะที่สาม ปี พ.ศ. 2559-2564 ขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมวิชาการทุกสาขาด้านโคนมและอุตสาหกรรม โดยขยายตลาดน้ำนมและน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมที่ผลิตโดยคนไทยให้ไปสู่การยอมรับและใช้ประโยชน์ในระดับสากล รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลากรและแนะนำเชิงเทคนิคในการผลิตโคนมเชิงการค้า ให้กับราชอาณาจักรภูฏานและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สำหรับระยะที่สี่ ปี พ.ศ. 2564-2569 ที่ได้ลงนามความร่วมมือต่ออีกวาระหนึ่ง เป็นระยะเวลา 5 ปี ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.ส.ค. จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจ ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่ความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพ หรือ นมพรีเมี่ยมในภูมิภาคอาเซียนและสากล
"สำหรับความสำเร็จในหลายด้าน ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกของ Dairy Asia (FAO, UN) ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการปรับปรุงพันธุ์โคนมสมัยใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และขอความร่วมมือทางเทคนิคระดับนานาชาติด้านการปรับปรุงพันธุ์โคนม ข้อมูลและความรู้ที่ได้ยังถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของเกษตรกร และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดโยบายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เศรษฐกิจของรัฐบาลไทย" นายสุชาติ กล่าว
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.ส.ค. มีผลงานล่าสุด คือ การพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมรายตัว ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำในการคัดเลือกโคนมเพิ่มขึ้น เกษตรกรได้โคนมทดแทนรุ่นใหม่ที่มีพันธุกรรมดี ตรงตามความต้องการ ทำให้ลดต้นทุนและได้ผลกำไรจากการผลิตโคนมมากยิ่งขึ้น โดยผลงานนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาโคนมในเอเชีย ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายละเอียด เช่น การพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมรายตัว สำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการที่ใช้อยู่เดิม และถูกนำไปใช้ในการพิสูจน์และผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมแช่แข็งของ อ.ส.ค. เพื่อการจำหน่ายและบริการให้กับเกษตรกร ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมระหว่างสองหน่วยงานดังกล่าว มีผลทำให้ความแม่นยำในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้โคนมทดแทนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ตรงกับที่ตนคัดเลือกได้เร็วขึ้น ร้อยละ 14.8 (7.4 เดือน) ของระยะห่างระหว่างรุ่น (50 เดือน) คิดเป็นต้นทุนลดลงมูลค่า 12,580 บาท/ตัว (ต้นทุนการเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 1,700 บาทต่อเดือน) ได้โคนมทดแทนรุ่นใหม่มีความสามารถในการให้ผลผลิตเพิ่ม 31.54 กิโลกรัม/ตัว/ปี หรือมีรายได้เพิ่ม 577.18 บาท/ตัว/ปี (ราคาน้ำนม 18.5 บาท/กิโลกรัม) ระยะเวลาในการตัดสินใจคัดเลือก (พิสูจน์) พ่อพันธุ์โคนมเพื่อการผสมเทียม (ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง) จาก 73 เดือน เหลือเพียง 24 เดือน หรือเร็วกว่าเดิม 49 เดือน (ไม่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์ลูกสาว) และลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู 131,369 บาท/พ่อพันธุ์ 1 ตัว (จาก 195,713 บาท/ตัว เหลือเพียง 64,344 บาท/ตัว) มูลค่าน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมแช่แข็งที่ผลิตได้จากพ่อพันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์แต่ละตัว เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาท/พ่อพันธุ์ 1 ตัว สร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงการค้า ผลกำไร ความมั่นคงทางอาหารให้กับอาชีพการเลี้ยงโคนมได้มากขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit