นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเสี่ยงที่ทำงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ทั้งที่ยังมีกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมากและยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ว่า การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เขตวัฒนา เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันและควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้างออกไปเช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในตลาดและชุมชนพื้นที่โดยรอบตลาดในเขตบางแค โดยการฉีดวัคซีนดังกล่าวฯ เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาได้ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในกระบวนการควบคุมการแพร่ระบาดโรค คือ การให้วัคซีน เพราะจะทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อ หรือหากติดเชื้อจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ แต่มิได้หมายความว่าคนที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ กรุงเทพมหานครจึงฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร่วมกับการดำเนินมาตรการอื่น ๆ เช่น การสอบสวนโรค การควบคุม แยกกัก กักกันโรค การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด และการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่ากรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม - เมษายน 2564 จำนวน 196,000 โดส ซึ่งในระยะแรกมีเป้าหมายให้บริการในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตรอยต่อติดกับจังหวัดสมุทรสาครและพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ และเขตหนองแขม โดยให้บริการกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยและบุคคลที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่ระยะ 5 ขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่นำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ต่อมาในเดือนเมษายนได้ขยายการบริการวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนในโรงพยาบาลทั่วทั้งกรุงเทพฯ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยได้จัดสรรวัคซีนให้กับโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ แล้ว จำนวน 194 แห่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับบริการฉีดวัคซีนฯ อย่างครอบคลุม รองรับการให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการให้บริการวัคซีนกับประชาชนในระยะถัดไป คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ กรุงเทพมหานคร ได้เสนอขอรับการจัดสรรวัคซีนฯ ให้เพียงพอต่อความต้องการและความจำเป็นในการให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุดต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit