สทนช. ยืนยันไม่มีการเก็บค่าน้ำสำหรับภาคเกษตร

07 Apr 2021

สทนช.เคลียร์กรณีเกิดข้อกังวลในหลักการเก็บน้ำค่าใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ'61 ย้ำชัดไม่มีเจตนาซ้ำเติมเกษตรกรหรือแสวงหากำไร เผยพยายามใช้มาตรการเพื่อลดการใช้น้ำภาคเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวรอบสองในฤดูแล้งที่ปลูกมากกว่าแผนที่กำหนดก่อนที่จะประสบปัญหากระทบน้ำอุปโภคบริโภคในระยะยาว

สทนช. ยืนยันไม่มีการเก็บค่าน้ำสำหรับภาคเกษตร

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงในกรณีเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์การเก็บค่าน้ำภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณชนในปัจจุบัน และมีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย ว่าการเก็บค่าใช้น้ำตามพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไม่ใช่การเก็บด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร แต่มีเจตนารมณ์เพื่อผู้ใช้น้ำทุกรายมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและคิดวางแผนการใช้น้ำอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้จัดประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ เป็น 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อ การอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยหลักการเก็บค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ในส่วนของการอุปโภคบริโภคเพื่อยังชีพ จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำแต่อย่างใด ส่วนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ มีหลักเกณฑ์คือ การทำการเกษตรในรอบแรกของปีจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายไม่ว่าเกษตรกรจะเพาะปลูกหรือมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนกี่ไร่ก็ตาม แต่สำหรับในช่วงฤดูแล้งที่มีความจำเป็นต้องสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ หรือการผลักดันน้ำเค็ม การเพาะปลูกข้าวรอบสองจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหามาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนนาข้าวในฤดูแล้งให้เป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยด้วย

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยต่อว่า ในส่วนของหลักเกณฑ์ที่นำมากำหนดพื้นที่การเกษตรที่มากกว่า 66 ไร่ ขึ้นไปต้องเสียค่าใช้น้ำนั้น เป็นผลมาจากการศึกษาประเมินรายได้จากผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว หักต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และนำมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในภาคครัวเรือน พบว่า พื้นที่การเกษตรที่เกษตรกรจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ คิดเป็นพื้นที่ 66 ไร่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 4.6 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่การใช้น้ำสาธารณะสำหรับการเกษตรโดยเฉพาะการทำนารอบสองในช่วงฤดูแล้งที่มีพื้นที่มากกว่า 66 ไร่ จึงเป็นมาตรการทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมลดการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถนำปริมาณน้ำที่มีอยู่ไปช่วยเหลือในส่วนของการอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

"สำหรับการคิดอัตราค่าใช้น้ำและรูปแบบการเก็บค่าใช้น้ำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ และนำมาหารือกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ชัดเจนและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยทุกขั้นตอนจะดำเนินไปอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การคิดอัตราค่าใช้น้ำที่จะประกาศใช้ในอนาคตมีความถูกต้องตามหลักการ โปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนและขอยืนยันว่าในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ จะไม่มีการเก็บค่าน้ำในส่วนของภาคการเกษตรอย่างแน่นอน" เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย