ในคราวการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยพะเยา ครั้งที่ ๕๒ (๗/๒๕๖๔) แพทย์หญิงกิตติยา ไทยธวัช รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา รายงานความคืบหน้าถึงการเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจังหวัดพะเยา และรายงานการจัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(COVID-19) หรือโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ทั้งนี้ จังหวัดพะเยา ได้มีคำสั่งจัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(COVID-19) หรือโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้พื้นที่วอร์ดผู้ป่วยใน ๒ รองรับจำนวน ๓๓ เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในจังหวัดพะเยา ที่ขยายวงกว้างและมีจำนวนผู้ติดเชื้อฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เตรียมความพร้อมและรองรับสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(COVID-19) หรือโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีมาตรการดูแลความปลอดภัยทางด้านทางการแพทย์ อาคารสถานที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรที่ได้รับมอบหมายหน้าให้มาปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนาม และการดูแล ผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ พร้อมกันนี้ แพทย์หญิงกิตติยา ไทยธวัช ได้รายงานถึงแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 กับบุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยา โดยเน้นกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยทางกองการเจ้าหน้าที่ ได้สำรวจบุคลากรที่ประสงค์จะรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ให้กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มแบบสำรวจ
เพื่อจะทำการจัดส่งข้อมูลให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นระยะต่อไป ซึ่งในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๔ บุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา จะได้รับการฉีดวัคซีน จำนวน ๗๐ โดส สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้เป็น ของ Sinovac ซึ่งการเข้ารับวัคซีนของบุคลากรจะมีการปฏิบัติจำนวน ๘ ขั้นตอน คือ หลังคัดกรอง -วัดไข้ - ล้างมือ แล้ว ๑. ลงทะเบียน - ทำบัตร ๒. ชั่งน้ำหนัก - วัดความดันโลหิต ๓. ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง - ลงนามในใบยินยอมการรับวัคซีน ๔. รอฉีดวัคซีน ๕. ฉีดวัคซีน ๖. พักสังเกตอาการ ๓๐ นาที - สแกน Line "หมอพร้อม" เพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีน ๗. สอบถามก่อนกลับ-รับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน ๘. Dash Board ประเมินผลความคลอบคลุมการฉีดวัคซีนและอาการไม่พึงประสงค์ Line "หมอพร้อม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุดม งามเมืองสกุล ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยได้จัดทำแบบประกันสุขภาพซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยโควิดให้กับบุคลากรอยู่แล้ว และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ จะดำเนินการทำแบบประกันกลุ่มโควิดให้กับบุคลากรทุกคนเพิ่มเติม ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit